CCIO หลักสูตรผู้บริหารเมืองอัจฉริยะ เอ็นไอเอกรุยทางสู่ Innovation Nation

CCIO หลักสูตรผู้บริหารเมืองอัจฉริยะ เอ็นไอเอกรุยทางสู่ Innovation Nation

CCIO หลักสูตรผู้บริหารเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ อย่างมืออาชีพรุ่นที่ 2 สานต่อยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Innovation Nation โดย สนง.นวัตกรรมฯ หรือเอ็นไอเอ 

‘เมือง’ นับเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนถือเป็นกุญแจสำคัญในการร่วมพัฒนาขับเคลื่อนเมืองไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น จนต่อยอดสู่การเป็น ‘เมืองอัจฉริยะ’ ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายซึ่งไม่ใช่แค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแต่ต้องรวมกันทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือนักศึกษาไม่แปลกที่เราจะเห็นหลากหลายองค์กรเดินหน้านำร่องการพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อให้ประเทศเป็นฮับด้านนวัตกรรม 

เช่นเดียวกันกับเอ็นไอเอ ที่ผ่านมาได้เปิดหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูง จนเกิดความสำเร็จในการสร้างคอนเน็คชั่นและการบริหารเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ตอกย้ำความสำเร็จ เดินหน้าเปิดหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม (Chief City Innovation Officer: CCIO) ในรุ่นที่ 2 เพื่อสร้างเครือข่ายผู้บริหารมืออาชีพ อีกทั้งเสริมศักยภาพผู้นำให้พร้อมต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็น Innovation Nation ด้วยเครือข่ายเมืองแห่งนวัตกรรม

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ กล่าวว่า จากการเปิดหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม (Chief City Innovation Officer: CCIO) รุ่นที่ 1 เมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้นำองค์กร ผู้บริหารทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นอย่างดี ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายในการพัฒนาเมืองร่วมกันของกลุ่มผู้บริหาร รวมถึงการแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ในด้านของการบริหารและการมีส่วนร่วมในการบริหารเมืองให้กลายเป็นเมืองแห่งนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างนวัตกรรมให้เข้ากับคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคมในพื้นที่เมืองต่างๆ ของประเทศไทยที่เปลี่ยนไปในทางที่ดี นำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจในนวัตกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อน และพัฒนาไปในทิศทางของความก้าวหน้า ยกระดับให้เมืองต่างๆ เป็น “เมืองแห่งนวัตกรรม” จึงได้เปิดหลักสูตร CCIO รุ่นที่ 2 ขึ้น

 “หลังจากจบหลักสูตร CCIO ในรุ่นที่ 1 ไป มีผู้บริหารหลายรายที่สามารถนำองค์ความรู้ด้านการสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง รวมถึงต่อยอดเครือข่ายการพัฒนาเมืองไปปรับใช้เป็นผลสำเร็จ เกิดการรวมกลุ่มสร้างกฎบัตรการพัฒนาเมืองในพื้นที่เมืองสำคัญต่าง ๆ ขึ้น เช่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร การเกิดขึ้นใหม่ของ บริษัทพัฒนาเมือง ในจังหวัดที่สำคัญล้วนเป็นตัวชี้วัดที่เห็นว่าหลักสูตรในปีที่ผ่านมาได้เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาเมืองในรูปแบบความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง”

หลักสูตร CCIO  หลักๆ ของรุ่นที่1 และ 2 จะไม่ต่างกันเพราะเราต้องการจะให้โมดูลเหล่านี้มันเหมาะสำหรับประเทศมากขึ้น ดีไซน์ไม่ให้ซ้ำกันกับหลายๆหลักสูตรขององค์กรอื่นๆที่เน้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาบริหารจัดการเมือง เพราะเราเน้นเรื่องการทำประชาคมเน้นเรื่องการพูดถึงนวัตกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญ สิ่งที่เราทำเป็นโมดูลมันเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงเมืองมากกว่า แต่ยังไม่ถึงจุดที่ลงลึกถึงด้านองค์ความรู้ที่เป็นเชิงลึกเพราะเราเปิดหลักสูตรสำหรับผู้บริหาร ซึ่งจะมีข้อจำกัดต่างๆ จึงต้องการสร้างผู้นำที่รู้จักนวัตกรรม ผู้นำที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง ที่เป็นทั้งผู้สร้าง และผู้ใช้นวัตกรรมในเวลาเดียวกัน และทำงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่นๆได้อย่างไม่ต้องเสียเวลาในการทำความเข้าใจเรื่อง นวัตกรรม และการบริหารจัดการมากนัก 

เพราะฉะนั้น หลักสูตรเหล่านี้เครือข่ายคือสิ่งสำคัญ แต่ขณะเดียวกันเป้าหมายคือการสร้างองค์ความรู้ที่ตรงกันและเส้นทางในการพัฒนาไปด้วยกันได้อย่างรวดเร็ว เพื่อยกระดับการใช้ชีวิต และไลฟ์สไตล์ของประชาชนในพื้นที่มาว่าจะเป็นคนชรา ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้มีทุนทรัพย์ทั่วไปให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้อย่างเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำไปในตัว ซึ่งผู้บริหารระดับสูงคือกุญแจสำคัญที่จะไปเชื่อมโยงจุดต่างๆภายในเมืองของตนเองให้ก้าวสู่เมืองแห่งนวัตกรรมได้อย่างตรงจุด ซึ่งในรุ่นที่ 2 นี้ คาดว่าจะมีกลุ่มผู้บริหารระดับสูงที่สนใจเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรดังกล่าวไม่น้อยกว่า 30 ราย  


          สำหรับหลักสูตรในปีที่ 2 นี้จะเป็นการต่อยอดความรู้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร พัฒนาทักษะการวางแผนยุทธศาสตร์ โดยยังคงเนื้อหาด้านการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาเมืองในบริบทของพื้นที่นวัตกรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน และเชื่อมโยงความร่วมมือการพัฒนาระหว่างหน่วยงานหรือกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง (City/Urban Development) ใน 6 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ภาครัฐ (Public Sector) ภาคการพัฒนา (Developer) ภาคการลงทุน (Investor) ภาคการศึกษา (Academic) ภาคการบริการสาธารณะ (Service Provider) และภาคประชาสังคม (Social Civic) 

อีกทั้งคงเนื้อหาความรู้จริงจากผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นการร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้เกิดการนำเอานวัตกรรมไปปรับใช้ในการพัฒนาเมืองสู่การพัฒนาประเทศต่อไป โดยเป็นหลักสูตรที่เรียนรู้มาจากรุ่นที่1แล้วนำพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทยมากขึ้น 

โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ City of Innovation : DiverCity การพัฒนาเมืองที่หลากหลาย, UrbanTech for City Transformation เทคโนโลยีด้านเมืองที่จะเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาเมือง, Innovative City for Aging Society การวางแผนเมืองเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ, Blockchain Technology for Transparency Procurement การนำเทคโนโลยีโครงข่ายมาใช้ในการเก็บข้อมูล หรือแม้กระทั่ง Startup City เมืองแห่งการเริ่มต้นที่เปิดกว้างสำหรับแนวคิดของประชาชนทั่วไป โดยมีตัวอย่างในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีมหาวิทยาลัยอยู่ประมาณ 10 แห่ง ซึ่งประชากรประมาณ 10% ในจังหวัดเป็นนักศึกษา ซึ่งหากนำโมดูลนี้ไปพัฒนาต่อยอดจะสามารถสร้างอีโคซิสเต็มให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังมีการจัดพาผู้เข้าอบรมร่วมศึกษาดูงานภายในประเทศกับหัวข้อ Data Science for Innovative City ณ จังหวัดภูเก็ต และการศึกษาดูงานต่างประเทศในงาน Smart City Expo World Congress ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งมีกำหนด ต.ค.–ธ.ค. 2562