นวัตกรรมนาโนเทค ยกระดับอุตฯ โคนม  

นวัตกรรมนาโนเทค ยกระดับอุตฯ โคนม   

เพิ่มความเสถียรและประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรียและราของซิงค์ไอออนและคอปเปอร์ไอออน ชุดตรวจวิเคราะห์เชื้อหรือสารปนเปื้อน 2 เทคโนโลยีฐานของนาโนเทค สวทช.ชี้เตรียมต่อยอดตอบโจทย์ความต้องการของ อ.ส.ค. พัฒนากิจการโคนมครบวงจรหวังยกกิจการโคนม วทน.

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ลงนามความร่วมมือกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนากิจการโคนมแบบครบวงจร หวังยกระดับกิจการโคนมด้วย วทน. ระยะเวลา 5 ปี (2562-2567)

จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้น้ำนมดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ว่าปี 2562 นี้ความต้องการบริโภคนมจะเพิ่มขึ้น จากการที่หลายภาคส่วนร่วมกันรณรงค์การบริโภคนมของประชาชนในประเทศ โดยในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณการบริโภค 1,332,180 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 8% จาก 1,233,483 ตัน ของปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการส่งออก-นำเข้าผลิตภัณฑ์นมจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการในตลาดนมพาณิชย์มีการผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการร่วมมือกันสนับสนุนการขยายตลาดส่งออกนมสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากิจการโคนมไทยระหว่าง สวทช. โดยนาโนเทค และ อสค. นับเป็นการตอบยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ทั้งยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่ครอบคลุมเกษตรชีวภาพ เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมชีวภาพ และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวกับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเศรษฐกิจฐานชีวภาพ พัฒนาความมั่นคงด้านการเกษตรและอาหารของประเทศและชุมชน สอดคล้องกับ BCG Model ที่มุ่งจะนำประเทศไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตอาหารคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับทุกภูมิภาคของประเทศ

“ศักยภาพของ สวทช. ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์งานด้านอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์และการบริหารจัดการพืชและสัตว์ โรงเรือนและระบบควบคุมที่สามารถปรับสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม การตรวจวินิจฉัยโรคในพืชและสัตว์ โมเดลการจัดการเพาะปลูกพืชและทำนายผลผลิต รวมไปถึงนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การพัฒนาสารกลุ่ม functional ingredient อาหารปลอดภัย การตรวจสอบย้อนกลับ กระบวนการผลิตอาหารแบบขั้นสูงโดยใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data analytics) จนถึงบรรจุภัณฑ์อาหารอัจฉริยะ (smart packaging)” ผู้อำนวยการ สวทช. ชี้

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า ในฐานะที่ อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อาทิ การนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (Thai-Denmark Smart Dairy Farm) ของ อ.ส.ค. เพื่อจัดตั้งฟาร์มโคนมสาธิตเชิงธุรกิจประสิทธิภาพสูง (Smart Farm) รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมให้แก่ผู้บริโภคอยู่เสมอ

“ความร่วมมือกับ สวทช. เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ อ.ส.ค. ได้มีการดำเนินงานและร่วมกันหารือเพื่อขยายผลงานวิจัยและพัฒนา นำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมโคนม รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดย สวทช. จะวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมในกิจการโคนม พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้เพื่อยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นมด้วย วทน. ให้แก่ อ.ส.ค. ที่จะขยายผลการวิจัยที่สู่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนากิจการโคนมแบบครบวงจร” ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

 

ด้าน ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า นาโนเทค สวทช. มีขีดความสามารถในการนำงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรหลากหลายรูปแบบ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ จะตอบความต้องการอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ได้แก่ การเพิ่มความเสถียรและประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรียและราของซิงค์ไอออนหรือคอปเปอร์ไอออน ซึ่งเป็นไอออนจากธาตุอาหารเสริม (micronutrients) ผลงานของ ดร.วรายุทธ สะโจมแสง กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งเเวดล้อม ที่ใช้พอลิเมอร์ธรรมชาติหรือกรดอะมิโนเพื่อเพิ่มเสถียรภาพประจุบวกของซิงค์ไอออนหรือคอปเปอร์ไอออน และเพื่อป้องกันการตกตะกอนจากการจับของประจุลบหรือสารอินทรีย์ในน้ำ

ดังนั้นประจุบวกของซิงค์ไอออนหรือคอปเปอร์ไอออนจึงมีความว่องไว สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้รวดเร็ว และยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้เป็นหลายเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเกลือซิงค์หรือคอปเปอร์ทำให้ใช้ความเข้มข้นน้อย สามารถต่อยอดไอออนจากธาตุอาหารเสริมสู่ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อในโรงเรือน ฟาร์มสัตว์ และสัตว์โดยเฉพาะต้านการอักเสบของเต้านมโค รวมไปถึงวัตถุดิบในอาหารสัตว์เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ

หรือ“ชุดตรวจวิเคราะห์เชื้อ/สารปนเปื้อนในกระบวนการผลิตน้ำนมโดยอาศัยคุณสมบัติของอนุภาคนาโนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือตรวจวัดและควบคุมคุณภาพการผลิตในโรงงาน” โดย ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง และคณะ จากกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์ระดับนาโน ที่ต่อยอดองค์ความรู้ นำเทคโนโลยีฐานในด้านการพัฒนาวัสดุโครงสร้างระดับนาโนและการพัฒนาระบบเซ็นเซอร์ เพื่อใช้วิเคราะห์ทดสอบในกระบวนการผลิตน้ำนม ให้ อ.ส.ค. สามารถยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมโคนม

“ทั้ง 2 ผลงานเป็นการวิจัยและพัฒนาในระดับกลางน้ำอย่างชุดตรวจต่างๆ ที่จะตอบโจทย์ด้านสุขภาพโคและการจัดการฟาร์ม, มาตรฐานและการตรวจวัด ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนานไปพร้อมกันกับงานวิจัยปลายน้ำอย่างบรรจุภัณฑ์และการแปรรูป แต่สำหรับความร่วมมือในระยะที่ 1 ปีพ.ศ. 2563-2565 นวัตกรรมกลุ่มควิก-วิน (Quick-Win) จะเป็นกลุ่มนมอัดเม็ดพรีเมี่ยม, นมผง และผลิตภัณฑ์จากนมเพื่อผู้สูงอายุ ที่คาดว่าจะพัฒนาออกมาได้อย่างรวดเร็วด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่เรามี” ดร.วรรณีกล่าว