“ดีอีเอส” จี้ทีโอทีแจงปม“เน็ตชายขอบ”
ส่งหนังสือถามเหตุผล 3ข้อ -จ่อตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
“พุทธิพงษ์” จ่อทำหนังสือถามเหตุผล ทีโอที 3 ประเด็น หลัง กสทช. ยกเลิกโครงการเน็ตชายขอบ ระบุต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อาจต้องตั้งคณะกรรมการสอบที่มาที่ไปของโครงการ รวมถึงมูลค่าความเสียหาย
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระดิขิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณีสำนักงานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยกเลิกสัญญาทำโครงการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ทุรกันดาร ระหว่างกสทช.และบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ว่า ตัวเองยังไม่ได้ทราบเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ จึงรอให้บริษัททีโอทีรายงานมาอย่างเป็นทางการก่อน
เบื้องต้นได้เตรียมทำหนังสือสอบถามกลับไปที่บริษัททีโอที 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องที่เกิดขึ้นมีข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างไร 2.การยกเลิกสัญญาของกสทช.ทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายเท่าไร และ 3.จะตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้เพื่อดูว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
“กระทรวงฯ จะดูว่าเรื่องนี้มีข้อมูลที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะการที่ กสทช.ยกเลิกสัญญาต้องมีเหตุผล มีอะไรที่เป็นสัญญาณทำให้เกิดความเสียหาย มีที่มาที่ไป จึงต้องตั้งกรรมการสอบ ซึ่งเป็นขั้นตอนตามกระบวนการ โดยให้เขาชี้แจงมา “
โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (โซน ซี) หรือโครงการเน็ตชายขอบ บมจ.ทีโอที ได้ชนะการประมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกอบด้วย การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภาคเหนือ 1 การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ภาคเหนือ 2 และการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาคารศูนย์ยูโซ่ เน็ต จำนวน 391 แห่ง แต่จนถึงขณะนี้ทีโอทียังไม่สามารถส่งมอบได้แล้วเสร็จ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.จึงได้ลงนามให้คำสั่งไปยังนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เพื่อส่งหนังสือยกเลิกสัญญาบริการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (โซน ซี) จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ที่ทีโอทีชนะการประมูลประกวดราคา 3 สัญญาวงเงินรวม 6,486,399,926 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แล้ว และได้ขึ้นบัญชีดำ เพื่อห้ามทีโอทีเข้าร่วมประมูลโครงการเน็ตชายขอบของกสทช.ที่จะจัดประมูลใหม่ (อี-บิดดิ้ง) ทดแทนโครงการที่ทีโอทีทำไม่สำเร็จด้วย ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
โครงการทั้ง 3 สัญญา ประกอบด้วย 1.โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต เซอร์วิส) ภาคเหนือ 2 มูลค่าโครงการ 2,103,800,000 บาท 2.โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเช่นเดียวกัน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าโครงการ 2,492,599,999 บาท และ 3.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โมบาย เซอร์วิส) มูลค่าโครงการ 1,899,999,927 บาท
การยกเลิกสัญญาของทีโอทีทั้งหมดนั้น เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า เพราะทีโอทีไม่สามารถส่งมอบโครงการได้ภายในวันที่ 15 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ ทีโอทีเคยส่งหนังสือขอเจรจาขยายระยะเวลาดำเนินงานกับสำนักงานกสทช.มาแล้ว ซึ่งตามที่ระบุในเงื่อนไขประมูล (ทีโออาร์) ทีโอทีต้องส่งมอบโครงการทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 2561 และได้ให้เวลา ทีโอที ส่งตัวแทนเข้ามาเจรจากับกสทช.ภายใน 7 วัน เพื่อลงพื้นที่โครงการอย่างละเอียดว่า โครงการในพื้นที่ส่วนไหนที่สามารถตรวจรับงานได้ หรือ ไม่ได้บ้าง
ทั้งนี้ นายฐากร ระบุด้วยว่า โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของทีโอทีไม่ได้มีปัญหา แต่มีปัญหาเรื่องสเปคของไฟเบอร์ออพติก ที่ทำไม่ตรงกับทีโออาร์ ที่ระบุว่าให้ใช้ของผู้ผลิตภายในประเทศ แต่ทีโอทีกลับใช้ของประเทศจีนค้างสต๊อกที่ราคาถูกกว่า แต่หากไม่ตรงกับทีโออาร์ ก็ไม่สามารถปรับให้ได้