"เวิร์คพอยท์-โกแบร์" แชร์สูตร เปิดเกมรุก“ทรานฟอร์ม”ธุรกิจ
“ดีทีซี” เดินหน้าหลักสูตรติวเข้มซีอีโอ ดึง “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ทัพใหญ่ค่ายเวิร์คพอยท์ พร้อมด้วย “ศีล นวมานนท์” แห่งโกแบร์ ร่วมแชร์ประสบการณ์ท้าทายศึกดิจิทัล ชี้ยากสุดคือเรื่องคน
“ดีทีซี” เดินหน้าหลักสูตรติวเข้มซีอีโอ ดึง “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ทัพใหญ่ค่ายเวิร์คพอยท์ พร้อมด้วย “ศีล นวมานนท์” แห่งโกแบร์ ร่วมแชร์ประสบการณ์ท้าทายศึกดิจิทัล ชี้ยากสุดคือเรื่องคน จะเปลี่ยนองค์กรซีอีโอต้องเป็นผู้นำ แนะเทคโนโลยีสำคัญแต่อันดับแรกต้องคำนึงถึงประสบการณ์ลูกค้า กล้าลองผิดลองถูก โจทย์ใหญ่มองให้ขาดดิสรัปไปทำไม ทรานส์ฟอร์มไปทำไม
เดินทางมาถึงคลาสที่สองแล้วสำหรับหลักสูตร “Digital Transformation for CEO” รุ่นที่ 1 โดยความร่วมมือระหว่าง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อีซี จำกัด (มหาชน) ครั้งนี้ได้แม่ทัพใหญ่ค่ายเวิร์คพอยท์ และนักบริหารรุ่นใหม่แห่งโกแบร์ร่วมแบ่งปันแนวคิดที่สนใจชิงความได้เปรียบในสมรภูมิดิจิทัล
นายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวคีย์โน้ตในหัวข้อ “ทฤษฎีลองผิดลองถูกบนความเปลี่ยนแปลง” ว่า จากเดิมที่บริษัทยิ่งอยู่นานยิ่งมีความมั่นคงแข็งแรง ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า “ยิ่งมีอายุยิ่งต้องคิดเรื่องทรานส์ฟอร์มธุรกิจ” โดยเฉพาะบริษัทที่มีอายุมากกว่า 30 ปี และบริษัทที่มีพนักงานจำนวนมาก
เขาเล่าถึงประสบการณ์ที่ต้องก้าวผ่านข้อจำกัดและอุปสรรคในธุรกิจทีวีดาวเทียม ทีวีดิจิทัล และการก้าวเข้าสู่ออนไลน์ว่า ความยากคือเรื่อง “คน” เนื่องจากเมื่อต้องเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ พนักงานมักไม่ค่อยยอมขยับตัว ไม่อยากทำ ไม่อย่างเสี่ยง ดังนั้นการทรานส์ฟอร์มสู่สิ่งใหม่ๆ ซีอีโอจำเป็นต้องเป็นผู้ริเริ่มเพื่อว่าพนักงานจะได้ยอมก้าวตาม
อย่างไรก็ดี ไทยเป็นตลาดน่าศึกษา เนื่องจากมีไลฟ์สไตล์ แนวความคิด รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ปัจจุบันประชากรเน็ตไทยสัดส่วนกว่า 80% อายุระหว่าง 18-44 ปี การสื่อสารบนออนไลน์จึงต้องทำให้สอดคล้อง
“เมื่อจะทรานส์ฟอร์มคนส่วนใหญ่มักถึงเทคโนโลยี ทว่าในความเป็นจริงอันดับแรกๆ ต้องมองถึงเรื่องประสบการณ์ของลูกค้า เบื้องต้นโมเดลการสื่อสารหากอายุต่ำกว่า 35 ปีจะเน้นไปทางออนไลน์ มากกว่า 35 ปี ทางทีวี รวมต้องผสมผสานทั้งทีวี ออนไลน์ และสื่อนอกบ้านต่างๆ”
ต้อง “กล้า” ลองผิดลองถูก
ที่ผ่านๆ มาแต่ละโครงการของเวิร์คพอยท์จะต้องมีการทดลอง ทดสอบตลาด และทุกครั้งผู้บริหารจะเข้าไปมีส่วนร่วมลงมือทำ เพื่อให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วม ยอมมาทำ ขณะเดียวกันเตรียมใจรับความล้มเหลว กำหนดไว้ก่อนเลยว่าจะยอมขายทุนแค่ไหน
“ผู้ใหญ่ต้องลุยก่อน เข้าใจว่าการตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าหากทำได้วัฒนธรรมองค์กรจะเปลี่ยนได้ โอกาสสำเร็จจะเพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้เวิร์คพอยท์เองมีรายได้จากยูทูบปีละกว่า 300 ล้านบาท เฟซบุ๊คประมาณ 100 กว่าล้านบาท หากวันหนึ่งทีวีเจ๊งก็มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน”
ผู้บริหารเวิร์คพอยท์ย้ำว่า สิ่งที่ยากที่สุดคือเรื่องการบริหารจัดการคนให้สอดคล้องกับต้นทุน เป็นโจทย์ของซีอีโอที่ต้องแก้ให้ตกว่าจะทำอย่างไรถึงสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วย ทำอย่างไรจะสร้างความสมดุลสอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภค การที่อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลไม่ได้แข็งแรงมาก ผู้ที่จะอยู่รอดได้ต้องรู้จักตนเอง รู้ว่าจุดแข็งอยู่ที่ใด เก่งด้านไหน หากเรื่องใดไม่เชี่ยวชาญจะร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งในด้านนั้นๆ ส่วนการเฟ้นหาผู้มาร่วมงานสำคัญต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้ากันได้
“กุญแจความสำเร็จของเรามาจากความกล้าที่จะลองผิดลองถูก กล้าที่จะยอมรับความล้มเหลว กล้าล้มโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา”
แนะใช้’ดาต้า’ขับเคลื่อนธุรกิจ
ด้านนายศีล นวมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกแบร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในหัวข้อ “HIGH PERFORMANCE CULTURE IN DIGITAL TRANSFORMATION” ว่า โจทย์ที่สำคัญที่สุดในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล คือ การวางจุดยืน สร้างความชัดเจนให้ได้ว่าจะดิสรัปไปทำไม ทรานส์ฟอร์มไปทำไม และคนในองค์กรพร้อมที่จะเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่
โดยงานสำคัญอันดับแรกๆ คือ การจัดการองค์กรรวมถึงวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นองค์กรที่เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตมากขึ้น เดินไปด้วยกันมากขึ้น ผู้บริหารเองต้องเปลี่ยนบทบาทไปจากเดิมอย่างมาก
อย่างไรก็ดี หลายกรณีพบว่า องค์กรจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่อง เช่น พยายามไม่ประชุมหรือลดการประชุมให้น้อยลงมากที่สุด สั้นที่สุด ขณะเดียวกันมีการวางบทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคลอย่างชัดเจน บริหารงานด้วยความรวดเร็วและยืดหยุ่น
“การคว้าโอกาสยุคดิจิทัลต้องลืมการทำธุรกิจรูปแบบเก่าๆ ไป การจะทำโครงการให้ประสบความสำเร็จต้องมีดาต้าชัดเจน พร้อมๆ ไปกับวางเป้าหมายว่าต้องมีส่วนเข้ามาสร้างผลกระทบต่อธุรกิจ”
เขากล่าวต่อว่า ซีอีโอต้องรู้จักเทคโนโลยี อัพเดทดีไวซ์ แกดเจ็ท แอพพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์ รวมถึงความเคลื่อนไหวในแวดวงเทคโนโลยี โดยไม่ใช่แค่รู้เพียงผิวเผิน ต้องลงลึกเพื่อวันหนึ่งจะได้สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตนเองได้
นอกจากนี้ วางแผนไปถึงระยะยาวถึงอนาคตและทำให้คนในองค์กรรับทราบถึงวิสัยทัศน์ที่วางไว้ มีการลองผิดลองถูก ให้ความสำคัญกับการบริหารความขัดแย้ง การจัดการคน คัดเลือกคนที่เก่งเข้ามาในองค์กร
พร้อมกันนี้ มีการศึกษาถึงโอกาสทางธุรกิจ ขนาดตลาด นำดาต้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กร สำคัญปรับให้ทีมเวิร์ครวมถึงการสื่อสารภายในองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และที่ขาดไม่ได้วันนี้การขายโปรดักส์แบบเดิมๆ จะไม่มีอีกแล้ว มูลค่าจะไปอยู่ที่ดาต้า การให้คำปรึกษา และการบริการ