เอ็นไอเอ เปิดห้องเรียนสร้าง ‘ผู้บริหารเมืองนวัตกรรม’ รุ่น 2

เอ็นไอเอ เปิดห้องเรียนสร้าง ‘ผู้บริหารเมืองนวัตกรรม’ รุ่น 2

เอ็นไอเอเปิดต่อเนื่องหลักสูตร “ผู้บริหารเมืองนวัตกรรม รุ่น 2” สร้างเครือข่ายผู้บริหารมืออาชีพให้พร้อมต่อการพัฒนาและบริหารเมืองให้เป็น “เมืองอัจฉริยะ” ระบุความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมเป็นคีย์หลักสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

หลักสูตร “ผู้บริหารเมืองนวัตกรรม รุ่น 2” หรือ CCIO 2 มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับความสามารถให้กลุ่มผู้บริหารเมืองมีความพร้อมด้านการพัฒนาและการจัดการให้เกิดเมืองนวัตกรรม ที่พร้อมต่อการเป็นประเทศไทย 4.0 บนพื้นฐานขององค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทักษะในการวางแผนยุทธศาสตร์และการจัดการเมืองนวัตกรรมที่เป็นไปตามหลักสากล และนำหลักการของเมืองต้นแบบมาปรับใช้ในบริบทของท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงภาพอนาคตอย่างยั่งยืน และสร้างให้เกิดเครือข่ายของกลุ่มผู้บริหารระดับ C-Level ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานสนับสนุน และเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการมีส่วนร่วมในการบริหารเมือง


โดย “มีเนื้อหาที่เน้นไปที่การจัดการเชิงกลยุทธ์เพื่อให้เกิด เมืองนวัตกรรม การพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของภาคธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อม รวมถึงส่งเสริมการเกิดวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) การทำ Foresight เพื่อคาดการณ์อนาคตนวัตกรรม การจัดการฐานข้อมูลของเมืองเพื่อใช้ในการวางแผน การพัฒนาเมืองและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน การพัฒนาเมืองด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างเชิงนวัตกรรม การทำความเข้าใจนวัตกรรมเพื่อยกระดับเมืองและท้องถิ่นของตนเอง

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ กล่าวว่า หลังจากจบหลักสูตรในรุ่นที่ 1 ไป ผู้บริหารหลายคนนำองค์ความรู้ด้านการสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองไปปรับใช้เป็นผลสำเร็จ เกิดการรวมกลุ่มสร้างกฎบัตรการพัฒนาเมืองในพื้นที่สำคัญต่างๆ เช่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร การเกิดขึ้นใหม่ของบริษัทพัฒนาเมืองในแต่ละจังหวัด ล้วนเป็นตัวชี้วัดว่า หลักสูตรในปีที่ผ่านมาเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันการพัฒนาเมืองในรูปแบบความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง

เน้นสร้างประชาคม-นวัตกรรม
เนื้อหาหลักของหลักสูตรรุ่นที่ 1 และ 2 แตกต่างกันไม่มาก จะเป็นเหมือนโมดูลหรือเครื่องมือที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงเมืองที่เหมาะกับประเทศไทย เน้นการออกแบบหลักสูตรไม่ให้ซ้ำกับหลักสูตรขององค์กรอื่นๆ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริหารจัดการเมือง แต่ CCIO เน้นการทำประชาคมและนวัตกรรม ส่วนหลักสูตรปี 2 จะต่อยอดความรู้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร พัฒนาทักษะการวางแผนยุทธศาสตร์ โดยยังคงเนื้อหาด้านการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาเมืองในบริบทของพื้นที่นวัตกรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและเชื่อมโยงความร่วมมือการพัฒนาระหว่างหน่วยงานหรือกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองใน 6 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ภาครัฐ (Public Sector) ภาคการพัฒนา (Developer) ภาคการลงทุน (Investor) ภาคการศึกษา (Academic) ภาคการบริการสาธารณะ (Service Provider) และภาคประชาสังคม (Social Civic)


“CCIO เป็นหลักสูตรสร้างผู้บริหารให้เป็นผู้นำที่รู้จักนวัตกรรม ผู้นำที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง ที่สามารถเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ใช้นวัตกรรมในเวลาเดียวกัน สามารถทำงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาทำความเข้าใจเรื่องนวัตกรรมและการบริหารจัดการ”


เป้าหมายถัดมาคือ การสร้างองค์ความรู้หรือเครื่องมือ ที่ยกระดับการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น คนชรา ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้มีทุนทรัพย์ทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้อย่างเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำไปในตัว สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยผู้บริหารระดับสูง ที่จะเชื่อมโยงจุดต่างๆ ภายในเมืองให้ก้าวสู่เมืองแห่งนวัตกรรมได้อย่างตรงจุด ฉะนั้น บทบาทของการมีผู้บริหารเมืองนวัตกรรม หรือ Chief City Innovation Officer จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะทุกๆประเทศล้วนแล้วแต่มีผู้บริหารเมืองนวัตกรรมทั้งสิ้นที่ร่วมบริหารเมือง ไม่ว่าจะเป็น ลอสแอนเจลิส หรือ นิวยอร์ก และจากเดิมบทบาทการสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้นต้องเป็น นักธุรกิจ แต่ปัจจุบัน สถาปนิก นักพัฒนาโครงการอสังหาฯ นักพัฒนาเมืองหรือแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี หรือบุคลากรในเทศบาล ก็กลายมาเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดการผลักดันนวัตกรรมในแต่ละเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

ผู้บริหารระดับสูง’ ตัวชูโรงสำคัญ


ด้าน วีรพล จงเจริญใจ รองประธานกรรมการสถาปนิกอีสาน อดีตนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.นครราชสีมา หนึ่งในผู้ร่วมอบรมหลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรมรุ่นที่ 1 กล่าวว่า ปัญหาเมืองมีความซับซ้อนและยากกว่าการที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งแก้ไขได้ จึงต้องร่วมกันจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้บริหารระดับสูงเป็นกุญแจสำคัญหรือแม่แบบในการนำร่องสิ่งเหล่านี้สู่จุดมุ่งหมายที่ชัดเจน หลักสูตรนี้จะสร้างเครือข่ายกลุ่มคนที่มีบทบาทการพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษาด้วยกัน ทำให้เกิดโลกทัศน์ใหม่ด้านนวัตกรรมกับการพัฒนาประเทศ จากที่อยู่ในยุค 3G เน้นรับจ้างผลิตหรือสร้างอุตสาหกรรมชั้นกลา ถ้าไม่มีการพัฒนา ประเทศเพื่อนบ้านที่ตอนนี้ขยับขึ้นมาตีตื้นไทยทั้งด้านการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ หรือจีดีพีจากที่เคยต่ำกว่า 1 ใน 3 ตอนนี้ขยับมาเป็นครึ่งต่อครึ่ง ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องพึ่งพานวัตกรรม


“เราได้พัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลเมืองผ่านแอพพลิเคชั่นหลายตัว เช่น การทำฐานข้อมูลพื้นที่สีเขียวเมือง สามารถเก็บข้อมูลต้นไม้ง่ายๆ เหมือนการจับโปเกม่อน โดยถ่ายรูป บันทึก เก็บข้อมูลแล้วส่งไปรวมในแผนที่ ก็สามารถนำข้อมูลไปต่อยอดได้ในหลายๆ ส่วน และด้วยนวัตกรรมนี้ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายสาธารณะ”