กสทช.แจงพร้อมไฟล์ลิ่งทันทีหากเปิดเอกชนทำพีพีพี
ดีอีเอส มั่นใจ พีพีพี ดาวเทียม เสร็จทันก่อนหมดสัญญาสัมปทาน ก.ย. 2564 เผยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากสทช.ขอยืดอายุไฟล์ลิ่งจนกว่าดาวเทียมหมดอายุ หวังจูงใจเอกชนร่วมพีพีพี ด้านกสทช.แจงพร้อมให้ไฟล์ลิ่งทันทีหากดีอีเอสได้เอกชนทำพีพีพี เหตุกฎหมายกำหนดคลื่นหมดสัญญาต้องคืนให้กสทช.จัดการ
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำ เงื่อนไขสัญญา (ทีโออาร์) ตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ดาวเทียมดวงที่ 4,5 และ 6 ของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดือนกันยายน 2564 ว่า สามารถทำกระบวนการได้ทันก่อนสิ้นสัมปทานแน่นอน ทั้งยืนยันว่าแนวทางทำพีพีพีเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในการหาเอกชนมาบริหารจัดการทรัพย์สินดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัมปทาน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบอื่นได้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมกับคณะกรรมการตรวจรับทรัพย์สินดาวเทียมเพื่อตรวจสอบทรัพย์สินให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ก่อนไทยคมต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดมาให้กระทรวงตามสัญญาที่ทำตาม Build Operation and Transfer (BTO) ส่วนการศึกษาแนวทางทำพีพีพีนั้น กระทรวงใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท จ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมาแล้ว คาดว่าภายในปีนี้จะหาข้อสรุปได้ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการร่างทีโออาร์ มั่นใจว่าทีโออาร์จะเสร็จกลางปี 2563
อย่างไรก็ตาม กระทรวงได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 2 ครั้งแล้วว่า ต้องการถือสิทธิ์เข้าใช้วงโคจรดาวเทียม หรือไฟล์ลิ่งจนกว่าดาวเทียมทั้ง 3 ดวง จะหมดอายุใช้งาน ไม่ใช่ส่งคืนให้กสทช.เป็นผู้ดำเนินการหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เนื่องจากต้องการให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพีพีพีดาวเทียมมั่นใจว่าจะได้ไฟล์ลิ่งไปพร้อมๆ ยื่นข้อเสนอเป็นพีพีพีแน่นอน ดาวเทียมดวงที่ 4 และ 5 จะหมดอายุการใช้งานอีก 3-4 ปี หลังหมดสัญญาสัมปทานขณะที่ดวงที่ 6 จะหมดอายุการใช้งานอีก 6 ปี หลังจากหมดสัญญาสัมปทาน
ดังนั้นประเด็นที่ กสทช.จะขอให้ย้ายคลื่นดาวเทียมที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของกระทรวงจากเดิมที่ใช้ คลื่นย่าน 3400-3700 MHz มาใช้งานช่วงคลื่นย่าน 3700-4200 MHz แทน เพื่อนำคลื่น 3400-3700 MHz มาประมูลนั้น จึงอยู่ระหว่างการเจรจา เพราะหากสิทธิ์ไฟล์ลิ่งยังเป็นของกระทรวงก็ไม่สามารถนำไปประมูลได้
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการกสทช. กล่าวว่า หากกระทรวงได้บริษัททำพีพีพีดาวเทียมแล้ว กสทช.สามารถให้สิทธิ์ไฟล์ลิ่งกับเอกชนที่ได้พีพีพีทันที ตามแผนบริหารสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เป็นทิศทางกำหนดแนวทางบริหารกิจการดาวเทียมของไทย มีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม หรือที่เรียกว่าเอกสารข่ายงานดาวเทียม (Satellite Network Filing) ทั้งหมดของไทยกำหนดคุณสมบัติทางเทคนิคของดาวเทียม คลื่นความถี่ที่ใช้งาน วงโคจร และพื้นที่บนโลกที่ใช้งานได้เป็นไปตามข้อบังคับที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียูกำหนด
ทั้งนี้ การแบ่งประเภทสิทธิเป็นสิทธิขั้นต้นและขั้นสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ไอทียู ทำให้การรักษาสิทธิจะรักษาเฉพาะสิทธิหรือข่ายงานดาวเทียมขั้นสมบูรณ์ที่มีดาวเทียมใช้งานอยู่จริง สำหรับการอนุญาตให้มีการใช้สิทธินั้นหากเป็นสิทธิขั้นต้นกรณีข่ายงานดาวเทียมใหม่ จะพิจารณาโดยใช้หลักใครมาขอก่อนได้ก่อน
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้ รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโครจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ และได้มีการแก้กฎหมายให้ กสทช.ดำเนินการตามมาตรา 60 ในนามของรัฐ ทำให้กสทช.ต้องทำหน้าที่ดังกล่าวตามกฎหมาย และมีการยกร่างแผนบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขึ้น”
ไฟล์ลิ่งที่อยู่ใต้สัญญาสัมปทานกระทรวงคือดาวเทียม 4,5 ,6 รวมถึงดวงที่ 7 และ 8 ที่อยู่ในขั้นอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 11 ไฟล์ลิ่ง ประกอบด้วย วงโครจร 78.5 องศา สำหรับใช้งานดาวเทียมดวงที่ 5,6 และ 8 จำนวน 6 ไฟล์ลิ่ง ,วงโคจร 119.5 องศาตะวันออก สำหรับดาวเทียม 4 จำนวน 2 ไฟล์ลิ่ง และวงโคจร 120 องศาตะวันออก จำนวน 3 ไฟล์ลิ่ง
วันที่ 21 ต.ค.นี้ กสทช.จะนำ (ร่าง) แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ เปิดเวทีประชาพิจารณ์ (ประชาพิจารณ์) อีกครั้ง