‘หัวเว่ย’ เร่งเกม 5จี ชี้ ‘ความร่วมมือ’ หนุนความเร็วการพัฒนา
นโยบายและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของ 5จี
นายเคน หู รองประธานบริหาร หัวเว่ย กล่าวถึง สถานะปัจจุบันของการพัฒนาเครือข่าย 5จีทั่วโลก ในงาน “Global Mobile Broadband Forum” ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า เทคโนโลยี 5จีเกิดขึ้นเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ หัวเว่ยเองได้ขับเคลื่อนจนเกิดความก้าวหน้าไปอย่างมาก
อย่างไรก็ดี เพื่อใช้ประโยชน์จาก 5จี ได้สูงสุดจำต้องร่วมมือกันเพื่อพิชิตความท้าทายต่างๆ ที่รออยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ แหล่งทรัพยากรต่างๆ รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
“เครือข่าย 5จีไม่เพียงแต่เร็วกว่า 4จีแต่จะมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของเราที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ในฐานะผู้ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เราจำเป็นต้องมีวิธีคิดที่สดใหม่เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในอนาคต”
ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเดินหน้า 5จี เต็มกำลัง เพียงเวลาไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากที่ได้มีการกำหนดมาตรฐานขึ้นมาอย่างชัดเจน ได้เกิดการใช้งานเครือข่าย 5จีเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวาง ซึ่งมีความเร็วกว่า 4จีอย่างมาก ขณะนี้ผู้ให้บริการเครือข่ายในกว่า 20 ประเทศ ได้เปิดให้บริการ 5จี เชิงพาณิชย์ รวมกว่า 40 เครือข่าย ภายในปลายปีนี้คาดว่าจะมีเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีกเป็น 60 ราย
เขากล่าวว่า 5จี เปิดประสบการณ์ที่เหนือกว่าให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสความเร็วสูงสุด โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกที่เปิดให้บริการ 5จีเชิงพาณิชย์ และขณะนี้มีผู้ใช้งานมากกว่า 3.5 ล้านรายสมัครใช้งานเครือข่าย 5จีกับผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศ ภายในช่วงเวลาเพียงไม่ถึงหกเดือน
อัตราการเติบโตดังกล่าวมีผลมาจากบริการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเออาร์ วีอาร์ที่ใช้เทคโนโลยี 5จี และการถ่ายทอดสดกีฬาด้วยภาพคมชัดระดับเอชดีแบบ 360 องศา บริการทั้ง 3 รูปแบบนี้ทำให้ผู้ใช้งาน 5จีกลุ่มแรกเริ่มใช้ปริมาณดาต้าเพิ่มขึ้นถึง 1.3 กิ๊กกะไบท์ต่อเดือน
นอกจากปริมาณการใช้ดาต้าที่เติบโตเพิ่มขึ้น ผู้ให้บริการเครือข่ายรายต่างๆ ยังมีช่องทางรายได้อื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น LG U+ ผู้ให้บริการเครือข่ายในเกาหลีใต้ได้เปิดตัวบริการด้านเออาร์ วีอาร์ ซึ่งรวมอยู่ในแพ็คเกจดาต้า 5จีแบบพรีเมียม และในช่วงเวลาเพียงสามเดือนหลังการเปิดให้บริการ 5จีสัดส่วนผู้ใช้งานแพ็กเกจดาต้าแบบพรีเมียมเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 3.1% เป็น 5.3%
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นๆ ยังสร้างมูลค่าทางธุรกิจใหม่ๆ จากการเริ่มใช้งาน 5จีในระดับอุตสาหกรรม แอพพลิเคชั่น5จี ช่วยยกระดับทั้งด้านการสื่อสารความเร็วสูงบนโทรศัพท์มือถือ ด้านบันเทิง และด้านการผลิต แม้ยังบอกไม่ได้ว่าแอพพลิเคชั่นนี้จะเป็นไปในรูปแบบใดในอนาคต แต่ได้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าทุกอุตสาหกรรมต่างได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5จี
นายหูให้ข้อสังเกตว่า แหล่งจ่ายและต้นทุนของคลื่นความถี่เป็นสองความท้าทายหลักที่กำลังเผชิญ จึงหวังว่าภาครัฐจะสามารถจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ให้มากขึ้นและพิจารณารูปแบบการตั้งราคาที่มีความยืดหยุ่นกว่าเดิม เพราะจะช่วยลดภาระรายจ่ายลงทุนเบื้องต้นให้แก่ผู้ให้บริการเครือข่ายได้
หัวเว่ยขอเสนอแนะให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ เริ่มวางแผนที่จะตอบรับความต้องการในคลื่นความถี่ใหม่ให้ครอบคลุมภายใน 5-10 ปีข้างหน้านี้ พร้อมชี้ว่า คลื่นความถี่ในช่วง 6GHz เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
“อุตสาหกรรมของเราต้องการการสนับสนุนด้านทรัพยากรของไซท์สัญญาณเพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบัน ต้นทุนยังสูงอยู่มากในขณะที่ไซท์สัญญาณไม่เพียงพอกับความต้องการเสมอ หน่วยงานกำกับดูแลควรริเริ่มและส่งเสริมให้มีการเปิดให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะในรูปแบบของการแบ่งปัน รวมถึงออกแนวทางสำหรับการก่อสร้างไซท์สัญญาณ”
ที่ผ่านมา มหานครเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองตัวอย่างที่รัฐบาลได้สร้างเสาไฟฟ้าอเนกประสงค์มาตรฐานใหม่ ภายในปี 2563 เซี่ยงไฮ้จะติดตั้งเสาไฟฟ้ารูปแบบใหม่นี้ตลอดระยะทาง 500 กิโลเมตรของถนนสาธารณะ เพื่อเพิ่มแหล่งจ่ายสัญญาณ5จี อีก 30,000 แห่ง คิดเป็น 75% ของสถานีกระจายสัญญาณไร้สายทั่วเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนในยุโรป กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโดยตรง เพื่อกำหนดความต้องการและระบุข้อบังคับในการใช้แหล่งจ่าย 5จีและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะร่วมกัน เช่น ไฟจราจร ป้ายจราจร และป้ายรถเมล์) เพื่อลดต้นทุนให้ทุกภาคส่วนด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้ร่วมกันได้
อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองก์ความรู้ของภาคอุตสาหกรรมแบบเดียวกันในแนวดิ่ง กรณีศึกษาตัวอย่าง และการพัฒนาให้สามารถทำเป็นธุรกิจได้ ดังนั้นจำเป็นต้องร่วมมือร่วมแรงกัน ด้วยการเปิดใจ ทำงานร่วมกันกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม เพื่อหาปัญหาที่แท้จริงและค้นหาว่าอะไรที่ได้ผลหรือไม่ได้ผล ซึ่งจะช่วยให้สามารถใช้ศักยภาพของ 5จีได้สูงสุด
ล่าสุด เพื่อการส่งเสริมนวัตกรรมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนและความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่กว้างขวางขึ้น หัวเว่ยได้เปิดศูนย์นวัตกรรมความร่วมมือ 5จีสำหรับยุโรปเป็นแห่งแรกในเมืองซูริค ศูนย์นี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยและซันไรส์ ซึ่งนับเป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่ช่วยให้ทั้งสองบริษัทสามารถทำงานร่วมกันและพัฒนาโซลูชั่น 5จีเฉพาะทางสำหรับภาคอุตสาหกรรม
“เห็นได้ชัดว่าแต่ละประเทศมีจุดแข็งทางเศรษฐกิจของตัวเอง ซึ่งเป็นขอบเขตที่เราสามารถนำเทคโนโลยี 5จีเข้าไปเสริมโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อเป็นการต่อยอดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้นๆ”
Global Mobile Broadband Forum ประจำปี 2562 นี้ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน ทั้งผู้ให้บริการเครือข่าย บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ องค์กรที่กำหนดมาตรฐานต่างๆ หน่วยงานวิเคราะห์การตลาด และสื่อมวลชนโดยมีการจัดแสดงเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5จี โซลูชั่นเชิงพาณิชย์ รวมถึงการใช้ 5จีในระดับผู้บริโภค ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมบริการคลาวด์ เออาร์ วีอาร์ ผ่าน 5จี การถ่ายทอดสัญญาณภาพบนความละเอียด 8เค การเล่นเกมผ่านคลาวด์ แมชชีนวิชั่น และโซลูชั่นที่ใช้เทคโนโลยี 5จี เพื่อการควบคุมทางไกล