ขยะอินทรีย์มีราคา นักวิจัยวิสเทคแปลงเป็น 'เชื้อเพลิงชีวภาพ' และ 'สารชีวภัณฑ์'
'นักวิจัยวิทยสิริเมธี' ประยุกต์ใช้ความรู้จากเทคโนโลยีชีวภาพ เปลี่ยนขยะอินทรีย์จากก้นครัวเป็น 'เชื้อเพลิงชีวภาพ' และ 'สารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม' เผยใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถขนขยะและสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ติดตั้งระบบนำร่องใช้กับชุมชนต้นแบบที่ระยองและน่าน
โครงการวิจัยหัวข้อ “การวิจัยค้นหาหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดย ธัญญพร วงศ์เนตร อาจารย์จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ วิสเทค กล่าวถึงงานวิจัยว่า จากผลการสำรวจโดยกรมควบคุมมลพิษในปี 2559 พบว่า ประชากรไทยสร้างขยะมูลฝอยหรือขยะชุมชนสู่ระบบนิเวศกว่า 27.37 ล้านตันต่อปี หรือราวๆ 74,998 ตันต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งในระดับชุมชนและประเทศชาติเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยจึงมุ่งหาวิธีกำจัดขยะอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเปลี่ยนให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่มที่มีคุณภาพสูง (ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น พืช สัตว์หรือจุลินทรีย์)
ทีมวิจัยทำการคัดเลือกหัวเชื้อจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ซึ่งต้องเป็นหัวเชื้อที่สามารถผลิตก๊าซมีเทน แล้วเพาะเลี้ยงให้เป็นหัวเชื้อต้นแบบในการย่อยโมเลกุลของขยะอินทรีย์ในครัวเรือน จากนั้นผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพและสังเคราะห์อีก 4 ขั้นตอนเพื่อให้ได้เชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นพลังงานสะอาดสามารถนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกได้ ปัจจุบันได้นำระบบหมักความจุ 200 ลิตรไปประยุกต์ใช้ที่ครัวเรือน จ.น่าน 30 ครัวเรือน และที่สถาบันฯ จ.ระยอง ซึ่งอยู่ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในอาคารเรียนและโรงอาหาร และกำลังวางแผนที่จะขยายสเกลการผลิตสำหรับรองรับการใช้งานในชุมชนอื่นๆ ต่อไป
ในส่วนของ จ.น่าน มีชุมชนต้นแบบด้านการจัดการขยะที่เข้มแข็ง คือ ชุมชนบ้านมหาโพธิ ที่มีการจัดการขยะตั้งแต่ปี 2552 เป็นชุมชนนำร่องของเทศบาลเมืองน่านในการจัดการขยะในชุมชนเมือง และเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการคัดแยกขยะ การกำจัดขยะอินทรีย์ การจัดตลาดนัดขยะ รีไซเคิล การจัดทำผ้าป่าขยะ การจัดตั้งกองทุนขยะในชุมชนเพื่อช่วยเหลือสมาชิก และนำชุมชนเข้าร่วมประกวดในกิจกรรมต่างๆ ด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม จนทำให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ศึกษาดูงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
“เราได้ติดตั้งระบบการหมักเศษอาหารพร้อมกับใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ประสิทธิภาพสูง ทำให้ชุมชนในพื้นที่ที่ติดตั้งถังหมัก สามารถผลิตก๊าซมีเทนได้สูงถึง 70-80% หลังจากนี้ ทางทีมวิจัยจะพัฒนาเทคโนโลยีการหมักเศษอาหารและหัวเชื้อจุลินทรีย์ในระดับที่ใหญ่ขึ้น มีการวางแผนในการนำไปประยุกต์ใช้ในระดับเทศบาล และมุ่งหวังว่าจะสามารถสร้างเมล็ดพันธุ์ให้คนในระดับชุมชนเห็นประโยชน์จากหัวเชื้อจุลินทรีย์และกระบวนการนี้ ว่าสามารถช่วยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ จนสามารถช่วยผลักดันให้เกิดการแยกขยะและช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะถูกปล่อยออกสู่ระบบนิเวศและธรรมชาติได้ในที่สุด”
ธัญญพร กล่าวว่า ประโยชน์สำคัญจากโครงการวิจัยนี้คือ สามารถผลักดันให้ชุมชนตระหนักและเกิดพฤติกรรมการคัดแยกขยะมากขึ้นและนำพลังงานทางเลือกกลับมาหมุนเวียนใช้ภายในชุมชน ด้วยการให้ชาวชุมชนนำขยะมูลฝอยมาแลกกับปุ๋ยชีวภาพที่สร้างจากหัวเชื้อจุลินทรีย์ประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถนำไปช่วยพัฒนาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันทีมวิจัยก็จะได้รับขยะมูลฝอยเพื่อนำมาเปลี่ยนเป็นสารมูลค่าเพิ่มได้เช่นกัน
ทั้งนี้ โครงการวิจัยหัวข้อ “การวิจัยค้นหาหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดย ธัญญพร วงศ์เนตร อาจารย์จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ วิสเทค เป็น 1 ใน 5 โครงการวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2562 จำนวน 2.5 แสนบาท โดยไม่มีข้อผูกพันใดๆ จัดโดยบริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) คัดเลือกนักวิจัยสตรีที่มีผลงานวิจัยในการพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและประเทศชาติอันโดดเด่น โดยในปีนี้เป็นปีที่ 17 ของการดำเนินโครงการในประเทศไทยรวมมีนักวิจัยสตรีไทยได้รับทุนสนับสนุนรวมแล้วทั้งสิ้น 65 คน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ขยะพลาสติกในเจ้าพระยา'ปทุมธานี'มากสุด
-ทุ่มลงทุนพันล้าน ลุยตั้งโรงไฟฟ้าขยะ
-ช่วยกัน!! ลด-แยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อ 'โลก' ใบนี้กันเถอะ
-‘พลังงานไฟฟ้าจากขยะ’ อีกหนึ่งพลังงานหมุนเวียนของไทย