"เคน หู" รองประธาน “หัวเว่ย” ดันยุทธศาสตร์กร้าวชิงบัลลังก์ “5จีโลก”
"เราขอเสนอให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ เริ่มวางแผนตอบรับความต้องการคลื่นความถี่ใหม่ให้ครอบคลุมภายใน 5-10 ปีข้างหน้านี้"
แม้จะถูกกดดันอย่างหนักหน่วงจากผลพวงสงครามทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ทว่ายักษ์โทรคมนาคมสัญชาติจีน “หัวเว่ย” ยังคงสู้ไม่ถอย เดินหน้าพัฒนาอุปกรณ์และโซลูชั่นสำหรับ “เทคโนโลยี 5จี”
ล่าสุดสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ระดับหนึ่งแล้วว่า “จุดยืนแข็งแกร่ง” และ “มีดีมากพอ” ที่จะได้รับการยอมรับในตลาดภูมิภาคเอเชียและยุโรป และจากนี้ยังคงเดินหน้าต่อในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมที่จะร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรม 5จีให้แจ้งเกิดไปทั่วโลก...
แนะรัฐเร่งแผนจัดสรรคลื่น
ในงาน “Global Mobile Broadband Forum” ครั้งที่ 10 จัดขึ้น ณ เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่ง “กรุงเทพธุรกิจ” เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน
เคน หู รองประธานบริหาร หัวเว่ย แสดงทัศนะว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ 5จี เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ไม่ใช่เพียงแค่สำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือหรือผู้จำหน่ายสินค้า แต่ยังรวมไปถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและรัฐบาลในแต่ละประเทศด้วย
ทั้งนี้ 3 ความท้าทายที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ประกอบด้วย การจัดสรรคลื่นความถี่ การลงทุนติดตั้งสถานีฐานหรือเสารับส่งสัญญาณ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและนอกอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
สำหรับประเด็นเรื่องต้นทุน และการจัดสรรคลื่นความถี่ หัวเว่ยหวังว่าจะได้เห็นภาครัฐต่างๆ สามารถจัดสรรทรัพยากรคลื่นได้มากขึ้น รวมถึงพิจารณารูปแบบการตั้งราคาที่มีความยืดหยุ่นกว่าเดิม เนื่องจากจะมีส่วนสำคัญช่วยลดภาระรายจ่ายการลงทุนเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการเครือข่าย
“เราขอเสนอแนะให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ เริ่มวางแผนที่จะตอบรับความต้องการในคลื่นความถี่ใหม่ให้ครอบคลุมภายใน 5-10 ปีข้างหน้านี้ โดยในเบื้องต้นคลื่นความถี่ช่วง 6 กิกะเฮิรตซ์จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”
ผลการศึกษาโดยจีเอสเอ็มเอ ระบุว่า คลื่นความถี่ที่มีราคาสูงจะส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน ทั้งความเร็วในการลงทุนติดตั้งสถานีฐาน การพัฒนาคุณภาพเครือข่าย และราคาค่าบริการ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อทั้งประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว
ชงโมเดล 'อินฟราฯ แชริ่ง’
เขากล่าวว่า อุตสาหกรรมต้องการการสนับสนุนด้านทรัพยากรของไซต์สัญญาณเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยทุกวันนี้ต้นทุนยังสูงมากและไม่เพียงพอต่อความต้องการ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลควรริเริ่มและส่งเสริมให้มีการเปิดให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะในรูปแบบของอินฟราสตรักเจอร์แชร์ริ่ง รวมถึงออกแนวทางสำหรับการก่อสร้างไซต์สัญญาณที่สอดคล้อง
ที่ผ่านมา มหานครเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองตัวอย่างที่รัฐบาลได้สร้างเสาไฟฟ้าอเนกประสงค์มาตรฐานใหม่ขึ้นมารองรับ ภายในปี 2563 มีแผนติดตั้งเสาไฟฟ้ารูปแบบใหม่ดังกล่าวตลอดระยะทาง 500 กิโลเมตรบนถนนสาธารณะ เพื่อเพิ่มแหล่งจ่ายสัญญาณ5จี อีก 3 หมื่นแห่ง หรือคิดเป็น 75% ของสถานีกระจายสัญญาณไร้สายทั่วเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนในยุโรป กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโดยตรง เพื่อกำหนดความต้องการและระบุข้อบังคับในการใช้แหล่งจ่าย 5จีและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะร่วมกัน เช่น ไฟจราจร ป้ายจราจร และป้ายรถเมล์ เป้าหมายเพื่อลดต้นทุนให้ทุกภาคส่วนด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้ร่วมกันได้
“ความท้าทายที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องของเทคนิค การจะเร่งเครื่องให้ 5จี เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจำเป็นต้องใช้ความพยายาม ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทำงาน เปลี่ยนสิ่งต่างๆ บนท้องถนนให้กลายเป็นเสาส่งสัญญาณ และแน่นอนว่าจะต้องมีมาตรการที่รัดกุมเพื่อป้องกันรักษาความปลอดภัย รวมถึงแนวทางการทำงานที่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น”
'ผนึกกำลัง’ท้าทายยุคใหม่โทรคม
รองประธานบริหารหัวเว่ย กล่าวถึง สถานะปัจจุบันของการพัฒนาเครือข่าย 5จีทั่วโลกว่า 5 จีเกิดขึ้นเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ เพียงเวลาไม่ถึงปีหลังจากที่มีการกำหนดมาตรฐานขึ้นมาอย่างชัดเจนได้เกิดการใช้งานเครือข่าย 5จีเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมีผู้ให้บริการเครือข่ายกว่า 40 รายใน 20 ประเทศ เริ่มคิกออฟบริการ 5จี เชิงพาณิชย์แล้ว และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นไปเป็น 60 ราย
“เพื่อการใช้ประโยชน์แบบสูงสุด ทุกภาคส่วนจำต้องร่วมมือกันพิชิตความท้าทายที่รออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ การบริหารจัดการทรัพยากร รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากเครือข่าย 5จี ไม่เพียงเร็วกว่า 4จี ทว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิต ธุรกิจ ในฐานะผู้ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีวิธีคิดที่สดใหม่เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม นอกจากปริมาณการใช้ดาต้าที่เติบโตเพิ่มขึ้น ผู้ให้บริการเครือข่ายจะมีช่องทางใหม่ๆ สำหรับสร้างรายได้ ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ สามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ จากการเริ่มใช้งาน 5จีในระดับอุตสาหกรรม โดยแอพพลิเคชั่น5จี จะช่วยยกระดับทั้งด้านการสื่อสารความเร็วสูงบนโทรศัพท์มือถือ ด้านบันเทิง การผลิต แม้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใดในอนาคต แต่มั่นใจว่าทุกอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน
จีเอสเอ็มเอระบุว่า เมื่อถึงปี 2568 จะมีผู้ใช้บริการ 5จี แตะ 1.57 พันล้านราย เข้าถึงอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ในครัวเรือนกว่า 480 ล้านครัวเรือน สร้างผลกระทบต่อจีดีพีโลก 2.89 แสนล้านดอลลาร์
ผงาดผู้นำ‘คว้าดีล60สัญญา’
สำหรับหัวเว่ย หลายปีมานี้ได้ขับเคลื่อนงานจนเกิดความก้าวหน้าไปอย่างมาก ปัจจุบันครองความเป็นผู้นำตลาด สามารถปิดดีลเซ็นสัญญาพัฒนาเครือข่าย 5จีเชิงพาณิชย์กับหลายประเทศทั่วโลกแล้วถึง 60 ฉบับ ล่าสุดในงานโกลบอลโมบายบรอดแบนด์ฟอรั่มยังได้เร่งแผนให้การศึกษาตลาด พร้อมจัดแสดงโซลูชั่นสำหรับการปรับใช้เทคโนโลยี 5จี เชิงพาณิชย์ในหลากหลายมิติ
ทั้งนี้ รวมไปถึงการใช้ 5จีในระดับผู้บริโภค ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ครอบคลุมไปถึงบริการคลาวด์ เออาร์ วีอาร์ การถ่ายทอดสัญญาณภาพบนความละเอียด 8เค การเล่นเกมผ่านคลาวด์ แมชีนวิชั่น และโซลูชั่นรูปแบบใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี 5จี เพื่อการควบคุมทางไกล
“การพัฒนา 5จี มาพร้อมกับความท้าทายในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ของภาคอุตสาหกรรม กรณีศึกษาตัวอย่าง การพัฒนาให้สามารถทำเป็นธุรกิจ ดังนั้นจำเป็นต้องร่วมมือกัน และที่สำคัญต้องเปิดใจ ทำงานร่วมกันกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม เพื่อค้นหาว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง อะไรที่ได้ผลหรือไม่ได้ผล ซึ่งหากทำได้จะมีส่วนสำคัญช่วยให้สามารถใช้ศักยภาพของ 5จีได้สูงสุด” นายหู กล่าว
ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการต่างได้เรียนรู้และทราบเป็นอย่างดีว่า ปริมาณการใช้งานต่อคนต่อเดือน(อาร์ปู้) ของผู้บริโภคมีจำกัด ดังนั้นโอกาสทางการตลาดที่ยังคงเปิดกว้างจะมาจากการปรับใช้ของภาคธุรกิจ ทว่าการจะคว้าโอกาสดังกล่าวมาได้จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ ชัดเจนในโจทย์ที่จะทรานส์ฟอร์มธุรกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฟอรั่มดังกล่าวมีผู้บริหารระดับสูงจากวงการโทรคมนาคมไทยเข้าร่วมหลายราย รวมถึงนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และนางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค