'หัวเว่ย' ย้ำแผนลงทุนไทย จุดพลุ5จีเชิงพาณิชย์ ดันอีโคซิสเต็มดิจิทัล
ปักหลักพัฒนาไอซีทีอีโคซิสเต็ม หนุนประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 เล็งนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดลงตลาด จุดพลุนวัตกรรม 5 จี สมาร์ทซิตี้ เอไอ พร้อมพัฒนาคนไอทีป้อนอุตฯ
หัวเว่ย เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านไอซีทีที่มีบทบาทอย่างมากในวงการโทรคมนาคมไทย นับตั้งแต่ยุค 2จี 3จี 4จี กระทั่งล่าสุดเข้าสู่ยุคบุกเบิกของเทคโนโลยี 5จี ซึ่งจากนี้ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าความพยายามที่ยักษ์โทรคมนาคมสัญชาติจีนรายนี้ต้องการจุดพลุให้ 5 จี เชิงพาณิชย์เกิดขึ้นจะออกมารูปแบบใด...
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมาว่า แนวทางธุรกิจของหัวเว่ยในประเทศไทยจากนี้จะให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีไอทีซีที่ทันสมัยที่สุดเข้ามาทำตลาด โดยตั้งเป้าที่จะสนับสนุนโยบายไทยแลนด์ 4.0 พร้อมผลักดันการเติบของไอซีทีอีโคซิสเต็มในภาพรวม
“กุญแจสำคัญที่จะนำศักยภาพด้านนวัตกรรมมาสู่ประเทศไทยคือบุคลากรที่มีความสามารถ ส่วนกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลรวมถึงดิจิทัลอีโคโนมีก็คืออีโคซิสเต็มส์ของอุตสาหกรรม”
เขากล่าวว่า หัวเว่ยมีแผนการลงทุนเพื่อต่อยอดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทย ไม่ใช่เพียงการพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์หรือทำตลาดผลิตภัณฑ์ดีไวซ์ ทว่าจะลงทุนอย่างหนักเพื่อผลักดันให้เกิดการเติบโตในภาพรวม
ที่ผ่านมา บริษัทแม่วางประเทศไทยเป็นตลาดที่มีความสำคัญในระดับโลก ขณะเดียวกันเป็นศูนย์กลางการทำตลาดหัวเว่ยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“เราให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการระดับท้องถิ่น ผ่านศูนย์โอเพ่นแลป คลาวด์ดาต้า รวมถึงศูนย์ทดสอบ 5จีในพื้นที่ต่างๆ และจากนี้จะยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในเม็ดเงินที่มากขึ้น ครอบคลุมทั้งด้านไอซีที และการฝึกอบรมบุคลากร หวังว่าจะสามารถส่งมอบเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่คนไทยได้ทั้งระดับบุคคล ครัวเรือน รวมถึงองค์กร”
ล่าสุด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ภายใต้หัวข้อ “การอบรมส่งเสริมด้านทักษะด้านดิจิทัลเพื่อนำไปสู่สังคมนวัตกรรมที่ยั่งยืน” โดยหัวเว่ยจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการแบ่งปันและถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและองค์กรต่างๆ ในอุตสาหกรรม
นายเติ้งเผยด้วยว่า เร็วๆ นี้เตรียมเปิดตัว “หัวเว่ย อะคาเดมี” ในไทย เพื่อเฟ้นหาและส่งเสริมบุคลากรที่มีทักษะด้านไอซีที ไม่ว่าจะเป็นด้านคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) และซูเปอร์คอมพิวติ้ง
“เราคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลได้ทั้งส่วนขององค์กรภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันส่งเสริมนวัตกรรมให้แก่บริษัทสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี บ่มเพาะให้เกิดอีโคซิสเต็มนวัตกรรมบนรากฐาน 5จี ซึ่งจะมีส่วนทำให้ไทยก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นกว่าประเทศอื่นๆ”
ปี 2562 หัวเว่ยเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยครบ 20 ปี ช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้รู้จักและมีความเข้าใจตลาดเป็นอย่างดี ทั้งบริษัทมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีทั้ง 2จี, 3จี และ 4จี ในไทย ปัจจุบันมีพนักงานในไทยกว่า 3,200 คน จากจำนวนดังกล่าว 75% เป็นคนไทย เมื่อปี 2561 การจัดซื้อจัดจ้างของหัวเว่ยในไทยมีมูลค่ากว่า 196 ล้านดอลลาร์
สำหรับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐส่วนตัวไม่สามารถให้ความคิดเห็นได้มากนัก ทว่าในภาพรวมยอดขายของหัวเว่ยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้มีแรงกดดันอยู่บ้างทว่ายังเชื่อว่าอนาคตจะยังคงสดใส ส่วนความกังวลของผู้บริโภคที่ว่าการใช้งานหัวเว่ยสมาร์ทโฟนจะมีข้อจำกัด หรือไม่สามารถใช้บริการในเครือกูเกิลได้นั้นบริษัทกำลังเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อยู่ไม่ได้นิ่งนอนใจ
พร้อมระบุ ในงานดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง(Digital Thailand Big Bang 2019) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 ต.ค.2562 หัวเว่ยจะร่วมออกบูทบนพื้นที่กว่า 400 ตารางเมตร จัดแสดงเป็น 5 โซน โดยมีไฮไลต์เช่น เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร เอไอสำหรับร้านค้าปลีก วีอาร์เกม สมาร์ทซิตี้ 5จี อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) คลาวด์ และโมบาย
หัวเว่ยมีมุมมองว่า 5จีได้เปลี่ยนโฉมสังคมโลกและจะช่วยเชื่อมต่อทุกสิ่ง แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ กำลังเกิดขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากกลยุทธ์ระดับชาติ โดยครอบคลุมทั้งด้านโทรคมนาคม สื่อ การผลิต การเดินทาง การบริการสาธารณะ และการศึกษา เชื่อว่าหาก 5 จีเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในไทยจะสร้างประโยชน์ได้อย่างมากเช่นกัน