อว.ดัน “เครดิตแบงก์” รับคนรุ่นใหม่เมินปริญญา มุ่งเรียนรู้ตลอดชีวิต
“เครดิตแบงก์” โมเดลใหม่การพัฒนาศักยภาพแรงงาน รองรับคนรุ่นใหม่ให้สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการเข้าคอร์สระยะสั้นเพื่อเพิ่ม-พัฒนาทักษะทางอาชีพ สะสมเป็นหน่วยกิตไปแลกปริญญา แทนการเรียนตามหลักสูตร 4 ปี
วันจันทร์ที่ 28 ต.ค.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมมอบนโยบายในประเด็นเกี่ยวกับ “การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ” รวมทั้งรับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานในด้านการผลิตและพัฒนากำลังของสถาบันอุดมศึกษาในภาพรวม ตลอดจนข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับ ทิศทางการผลิตและพัฒนากำลังคนระดับอุดมศึกษาในอนาคต ณ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า การสร้างคนของกระทรวงไม่ใช่แค่การสนับสนุนผลิตบัณฑิตเท่านั้น แต่ต้องสร้างกลุ่มคนที่จบออกมาแล้วให้มีทักษะทางอาชีพเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันกระทรวง อว. ได้แบ่ง กำลังคน ออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรกบัณฑิต อายุตั้งแต่ 18-21 ปี โดยแต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มลดลงตามอัตราเด็กเกิดใหม่, กลุ่มที่ 2 ตลาดแรงงานอายุ 26-60 ปี ที่มีประมาณ 38 ล้านคน ที่ต้องดูแล เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มก่อนสูงวัย อายุ 45 ปีขึ้นไป ที่ต้องเตรียมพร้อมรองรับวัยเกษียณ เพื่อให้มีการเรียนรู้และอาชีพรองรับ หากกลับเข้ามาในตลาดแรงงานอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ไว้เลี้ยงดูตัวเอง
“อนาคตการเรียนการสอนในมหาลัยวิทยาลัยจะต้องเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ผลิตบัณฑิตออกมาในตลาดแรงงาน แต่จะปรับเปลี่ยนเพื่อเน้นประสบการณ์และตอบโจทย์กับทักษะที่มีความจำเป็นจริง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีทักษะเพิ่มเติมไว้ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการทำงาน ถือเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนต้องทำงานร่วมกัน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างตรงจุด”
ขณะเดียวกัน ภายหลังจากการหารือกับรองนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทรวงจะร่วมกับมหาวิทยาลัยและบริษัทขนาดใหญ่ จัดทำแพ็คเกจที่เป็นรูปแบบของหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้กับประชาชน เบื้องต้นจะให้ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมเรียนรู้ตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยจะประกาศออกมา สอดคล้องกับมาตรการของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.แล้ว ที่เป็นมาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็นแอดวานซ์ เทคโนโลยี ไปหักค่าใช้จ่ายได้ 250% ระหว่างปี 2562-63
นอกจากนี้ กระทรวงจะร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดงานไทยแลนด์ จ๊อบ แฟร์ ขึ้นมา เพื่อสร้างการรับรู้และความตื่นตัวให้กับเยาวชนที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย เปลี่ยนความคิดไม่ใช่แค่เรียนจบเท่านั้น แต่จะช่วยให้เยาวชนเหล่านี้รับรู้ถึงความต้องการของบริษัทเอกชน หรือตลาดแรงงานที่มีอยู่ว่าต้องการรับคนทำงานมีทักษะหรือการเรียนรู้ส่วนใดบ้าง ถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อไม่ให้เยาวชนที่เรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำ หรืออาจทำงานไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนจบมา
ดึง‘มรภ.-มทร.’อบรมแรงงานอีอีซี
นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ได้จัดทำกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ปี2563 - 2570 ประกอบด้วย 4 แพลตฟอร์มสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยให้ความสำคัญด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์สูงสุด เห็นได้จากสัดส่วนงบประมาณสนับสนุนมากถึง 75% ของงบฯกระทรวง อว.
กรอบยุทธศาสตร์ อววน.ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มุ่งตอบโจทย์ 3 ประเด็นหลักที่เป็นเรื่องเร่งด่วนคือ 1.ความต้องการกำลังคนระดับสูงรองรับการลงทุนทั้งในส่วนของเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)และที่ไม่ใช่อีอีซี 2.การเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต และ 3.ส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานขับเคลื่อนประเทศในอนาคต (AI for All) แผนการพัฒนากำลังคนระดับสูงนี้ประกอบด้วยโมเดลต่างๆ ครอบคลุมทั้งระดับปริญญาและ non degree ยกตัวอย่าง แผนพัฒนากำลังคน ป้อนอีอีซีในกลุ่ม non degree คาดว่ามีความต้องการประมาณ 1 แสนคนต่อปี จะมีโปรแกรมฝึกอบรมแรงงานทั้งพัฒนาทักษะ( Re-skill) และ เพิ่มทักษะ( Up-skill ) โดยจะมอบหมายให้กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เป็นแกนหลัก
ชงมาตรการภาษีจูงใจนายจ้าง
ในส่วนของการผลิตกำลังคนป้อนความต้องการของประเทศทั้งในเขตและนอกเขตอีอีซี ยังคงเน้นการรีสกิลและอัพสกิลแรงงานในภาคอุตสาหกรรม (non degree) ตั้งเป้า 2 แสนคนในระยะเวลา 3 ปี โดยจะประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกรมสรรพากร ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ผู้ประกอบการซึ่งรวมถึงเอสเอ็มอีที่ลงทุนพัฒนาบุคลากร ทั้งนี้ องค์กรที่จะให้บริการฝึกอบรมได้นั้นจะเป็นมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการ สมาคม สถาบันของเอกชนหรืออื่นๆ ต้องมาแจ้งขึ้นทะเบียนให้ สอวช.รับรองก่อน เมื่อผู้ประกอบการใช้บริการจากองค์กรเหล่านี้ก็จะยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้ 2.5 เท่าของค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานไปเทรนนิ่ง
ในส่วนการพัฒนากำลังคนระดับปริญญานั้นจะดำเนินการผ่านโครงการบูรณาการการศึกษากับการทำงาน (Work integrated Learning: WiL) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยผลิตบัณฑิตคุณภาพออกสู่สังคม โดยนักศึกษาต้องทำงานเต็มเวลา (Full Time) ในโรงงานเป็นเวลาหนึ่งเทอม เป็นการฝึกให้นำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในการทำงานกับสถานการณ์จริง มีอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้บริหารโรงงานดูแลเด็กอย่างเป็นระบบ ในส่วนระดับปริญญาโทจะร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำโครงการ HIFI ซึ่งหลักการคล้ายกับ WiL แต่เปลี่ยนจากปริญญาตรีเป็นปริญญาโทเข้าไปเป็นอินโนเวชั่นเมเนเจอร์ ระยะเวลา 2 ปี
เครดิตแบงก์หนุน เรียนรู้ตลอดชีวิต
นายกิติพงค์ กล่าวอีกว่า ข้างต้นคือตัวอย่างของการพัฒนากำลังคนที่เป็นระยะสั้น ขณะที่แผนระยะยาวนั้น อว.มีแนวทางปฏิรูประบบการอุดมศึกษา หรือ reinvent University systems ผ่านกลไกทางงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบันที่หลักสูตร 4 ปีไม่ตอบโจทย์อนาคต โดย สอวช.ได้สำรวจข้อมูลตำแหน่งงาน หรือ future skill demand ซึ่งเป็นที่ต้องการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต (นิว เอส-เคิร์ฟ) 5 อุตฯ คือ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจรและอุตฯดิจิทัล และจะจัดทำเพิ่มอีก 5 อุตสาหกรรมที่เหลือให้แล้วเสร็จในปี 2563 จากนั้นนำมาจัดทำและเผยแพร่เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับหน่วยงานที่จะเปิดคอร์สอบรม รวมทั้งถูกส่งให้กับมหาวิทยาลัยเพื่อจัดหลักสูตรรองรับความต้องการแรงงานในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหลักสูตรปริญญา
“คนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับปริญญาน้อยลง ไม่ได้มาเรียนเพื่อต้องการปริญญา แต่ต้องการเรียนแบบคอร์สระยะสั้นที่ใช้ได้จริงหรือเพื่อ upskill ตัวเอง ขณะเดียวกันคอร์สที่อบรมไปนั้นก็สะสมเป็นเครดิต เช่นเดียวกับประสบการณ์การทำงานหรืออายุงานก็สะสมเป็นเครดิตหรือหน่วยกิตได้เช่นกันสำหรับนำไปเทียบเป็นปริญญาในอนาคตตามกำหนด 8-10 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า คอร์สความรู้นั้นต้องดำเนินการโดยองค์กร/หน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนกับ สอวช. หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น”
อว.ยังให้ความสำคัญกับพลังสมอง (Brainpower) และการดึงดูดคนเก่งจากต่างประเทศให้กลับเข้ามาพัฒนาประเทศไทย หรือการหารูปแบบที่จะทำอย่างไรให้บุคคลที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศเหล่านี้สามารถนำองค์ความรู้และงานวิจัยของพวกเขาเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ พัฒนาคนเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศให้ได้ ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะอยู่ที่เมืองไทยหรือไม่ก็ตาม
AI for All โครงการปัญญาประดิษฐ์สำหรับทุกคน
นายกิติพงค์ กล่าวอีกว่า AI for All โครงการปัญญาประดิษฐ์สำหรับทุกคน เป็นตัวอย่างหนึ่งในโครงการ Flagship ในการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ วัตถุประสงค์คือ พัฒนากลไกที่มีประสิทธิภาพในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทุกระดับ เพื่อผลลัพธ์ที่สำคัญคือ
1.สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยมีการจัดการเรียนการสอน หรือฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับสถาบันที่เชี่ยวชาญระดับโลกและหน่วยงานผู้ใช้จำนวน 20 แห่ง
2.โรงเรียนระดับมัธยมศึกษามีการอบรมด้านเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 1 พันโรง ภายในงบปี 2563
3.เด็กและเยาวชน (ทั้งประถมและมัธยมรวมกัน) ได้รับการศึกษาหรืออบรมความรู้และทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 2 แสนคน
4.บุคลากรในสถานประกอบการได้รับการศึกษาหรืออบรมความรู้และทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อย่างเข้มข้นจำนวน 2 แสนคน
5.สนับสนุน SME เพื่อทำเรื่องของเอไอ ออโตเมชั่น ประมาณ 5 พันรายจนถึงปี 2565
6.สร้างนักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นอีก 100 คน