'สุวิทย์' ผลักดันแผนพัฒนา 'สมาร์ทฟาร์มเมอร์'
“สุวิทย์ เมษินทรีย์” เรียกประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ 76 จังหวัดทำแผนพัฒนาสู่ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” ทั้งพืชสัตว์เศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ลั่นเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่ ต้องไม่มีของเหลือทิ้ง พร้อมทุ่ม 500 ล้านนำนักศึกษาลงไปช่วยเกษตรกรตัวจริง
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติจาก 76 จังหวัดพร้อมกับ 3 หน่วยงานของ อว. ที่ทำงานเกี่ยวข้องการเกษตรได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันสารสนเทศและทรัพยากรน้ำ (สสน.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และมีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติและอดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) รวมทั้งนายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษา รมว.อว. ซึ่งรับหน้าที่สำคัญในการนำเอางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมของ อว.ลงไปช่วยเหลือพัฒนาเกษตรกรของไทย
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้มีการขยายผลโครงการที่เคยดำเนินการมาแล้วเมื่อครั้งที่เป็น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ คือ การช่วยเหลือยกระดับเกษตรกร ผ่านโครงการ 1 ชุมชน 1 นวัตกรรมเกษตร ของ วว. และ ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด ของ สสนน. การปรับปรุงพันธุ์พืช สร้างระบบสมารทฟาร์มมิ่ง ระบบ IoT และโรงเรือนอัจฉริยะ รวมทั้งโครงการ iTAP ของ สวทช.ที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่เกษตรกร โดยให้มีการนำโครงการทั้งหมดไปขยายผล เชื่อมโยงเข้ากับมหาวิท ยาลัยในพื้นที่ พร้อมจับมือกับทั้งสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และ สภาเกษตร ในการทำงานร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมดังกล่าว พบปัญหาที่พี่น้องเกษตรกรเผชิญอยู่ คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ การที่ยังต้องพึ่งพาฟ้าฝน ขาดแคลนเทคโนโลยีและองค์ความรู้สมัยใหม่ ยังไม่สามารถทำการเกษตรที่มีรายได้สูงแบบประเทศพัฒนาแล้วได้ ซึ่งจะต้องเร่งปรับเปลี่ยนไปสู่การเกษตรแห่งศตวรรษที่ 21 โดยเร็ว
ทั้งนี้ มี 2 ประเด็นหลักที่ได้ฝากทางสภาเกษตรไว้ ประเด็นแรก คือ ขอให้สภาเกษตรร่วมกันวางแผนบูรณาการการ เกษตรกับ อว.เพื่อวางนโยบายให้ชัดเจน แก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยสะท้อนเสียงจากเกษตรกรตัวจริง เน้นเรื่องเกษตรหมุนเวียน เปลี่ยนการผลิตแบบเส้นตรงให้เป็นวงกลม คือ ไม่มีของเหลือทิ้ง นำทุกอย่างมาใช้ประโยชน์ได้ จึงได้ให้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ทำงานวิจัยเชิงระบบของการเกษตรเพื่อให้เห็นภาพการเกษตรของทั้งประเทศ
และประเด็นที่สอง ขอให้สภาเกษตร ขึ้นรูปแผนการพัฒนาเกษตรกรไปสู่ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ทั้งในส่วนของพืชสัตว์เศรษฐกิจยุคปัจจุบัน เช่น ข้าว ยาง มัน ปาล์ม และยุคใหม่ เช่น ไผ่ กัญชง จิ้งหรีด ซึ่งนอกจากการขยายผลจากของเดิม ยังจะต้องมีแผนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร การรับรองคุณภาพ การวิจัยความรู้ก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว การศึกษาตลาดในรูปแบบต่างๆ การขนส่งผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการที่ครบทั้งห่วงโซ่และจะต้องเตรียมแผนการพัฒนาเกษตรกรในขั้นต่อไป ให้ไปสู่การเกษตรแม่นยำที่จะนำเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ในการเกษตรแห่งอนาคต
“ในปีงบประมาณ 2563 อว.จะมีงบประมาณ 500 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาพี่น้องเกษตรกร ด้วยองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม และจะมีการส่งเสริมให้มีโจทย์วิจัยที่ตรงกับปัญหาของพี่น้องเกษตรกร รวมทั้งจะดึงเอาพลังและองค์ความรู้ของนักศึกษาลงไปช่วยแก้ไขปัญหาทางการ เกษตรในพื้นที่จริงอีกด้วย” นายสุวิทย์ กล่าว