'กลุ่มสามารถฯ' ถอดบทเรียน เร่งทรานส์ฟอร์มพลิกฟื้นธุรกิจ
"บทเรียนสอนเราให้ออกจากธุรกิจที่ไม่สร้างกำไรและไม่เชี่ยวชาญ"
หลังจากโทรศัพท์มือถือจากจีนทะลักเข้าไทยอย่างคับคั่ง ดัมพ์ราคาเหลือเพียง "หลักพันบาท" ส่งผลให้ต้นปี 2560 เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับ “บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น" ที่ต้องตัดสินใจปิดตำนานมือถือเฮ้าส์แบรนด์ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตอย่าง “ไอ-โมบาย” ผลประกอบการปีนั้นส่งผลให้ “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” ซีอีโอของกลุ่มเสมือนคนเจ็บหนัก บวกกับสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง กระทบกับงานประมูลในโครงการของรัฐที่เป็นลูกค้าของกลุ่มสามารถฯ ทั้งหมดมากกว่า 10 โปรเจค "ไม่สามารถวางบิลได้" โปรเจคที่คิดว่าจะได้เซ็นสัญญากลายเป็น "โปรเจคค้างท่อ"
จากปี 2560 เป็นต้นมา กลุ่มสามารถฯ เริ่มเข้าสู่กระบวนการทรานฟอร์มบริษัท และพลิกฟื้นธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ เป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ลดขนาดธุรกิจที่พึ่งพิงงานประมูลรัฐ หันเหสู่งานที่เป็นรายได้ประจำ และวิ่งหาลูกค้าเอกชนมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงธุรกิจไม่ให้บริษัทเข้าสู่ภาวะแบบเดิมอีก
"กรุงเทพธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์ “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น ถึงเรื่องราวธุรกิจที่ผ่านมา และผลดำเนินงานตลอดปี 2562 รวมถึงทิศทางธุรกิจในปี 2563
วัฒน์ชัย เอ่ยเป็นประโยคแรกว่า "สินค้าที่เป็นไอทีคอนซูมเมอร์นั้น เราคงไม่เข้าไปแล้ว เพราะสามารถ ไอ-โมบาย โทรศัพท์มือถือแบรนด์ไทยที่ปิดตัวลงเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทำให้บริษัทมีบทเรียนมากขึ้น และทำให้เราตัดใจออกจากธุรกิจที่ไม่สร้างกำไรและไม่เชี่ยวชาญ"
ซึ่งเขายอมรับว่า แบรนด์ข้ามชาติจากจีนมีความสามารถในการควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดีมาก และแข่งขันด้านราคาได้ดีกว่า ดังนั้น กลุ่มสามารถฯ จึงต้องมองสิ่งที่ถนัด คือ งานด้านเซอร์วิส ไอซีที และโซลูชั่นครบวงจร
50:50สูตรสำเร็จในปี'63
จากการพลิกฟื้นธุรกิจอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วัฒน์ชัย เล่าว่า ตั้งเป้าหมายของปี 2563 สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะเข้าสู่ 50:50 คือ มาจากรายได้จากธุรกิจประจำ และอีกครึ่งมาจากรายได้งานประมูล โดยขณะนี้รายได้จากส่วนหลังยังมากกว่า 60%
นอกจากนี้ จะเพิ่มไลน์ธุรกิจเข้าไปในเซคเมนต์ของเอกชนให้มากขึ้น ลดความเสี่ยงจากงานประมูลของภาครัฐ แม้ปัจจุบันรายได้จากภาครัฐรวมรัฐวิสาหกิจยังมีมากกว่า 80% ซึ่งมากในแง่ของมูลค่าโครงการ ส่วนหากมองในแง่ของจำนวนลูกค้าแล้ว งานจากเอกชนมีมากกว่า 100 ราย
ทั้งนี้ ครึ่งปีที่ผ่านมา บริษัทมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เข้ามามาก ปัจจุบันมีโครงการในมือ (Back log) แล้วมูลค่ารวมกว่า 9,000 ล้านบาท จากโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการออกแบบจัดหาพัฒนาติดตั้งและดูแลบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บมจ.ทีโอที และเอสเอ็มอีแบงก์ สำหรับช่วงที่เหลือนี้ บริษัทยังเข้าประมูลงานอีกคิดเป็นมูลค่าราวหมื่นล้านบาท
มองหาโอกาสที่ทำเงิน
สำหรับ บมจ.สามารถดิจิตอล หรือ เอสดีซี เป็นหนึ่งในธุรกิจที่กลุ่มสามารถฯ ให้ความสำคัญ หลังจากพลิกฟื้น และมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งจากโครงการติดตั้งโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล และเสาโทรคมนาคมในกรมอุทยาน ได้เริ่มทยอยรับรู้รายได้ รวมถึงโครงการ Digital Trunk Radio ปัจจุบันมีลูกค้ารายใหญ่ เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมป้องกันสาธารณภัย และปีหน้าตั้งเป้าจำหน่ายเครื่องไว้ราว 60,000 เครื่อง
วัฒน์ชัย บอกว่า เอสดีซียังมีโครงการใหม่ ซึ่งจะสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟทั่วประเทศ หรือ Google Station ซึ่งจับมือกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม คาดว่า จะมีรายได้จากการเข้าไปหาพื้นที่ และติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟ พร้อมดูแลรักษาตลอด 5 ปีนับจากติดตั้ง โดยตั้งเป้าติดตั้งจำนวน 10,000 จุดภายในปีหน้า
ส่วนธุรกิจยู-ทราน ซึ่งเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค โดยบริษัทเทด้า ได้มีการเซ็นต์สัญญาในโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า และโครงการสายไฟฟ้าลงดินแล้ว รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทยังมีโอกาสในการเข้าประมูลโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินอีกหลายเส้นทาง และยังมองหาธุรกิจใหม่ๆ ด้านการจัดการพลังงานในอนาคตต่อไปด้วย
ดันอีกบริษัทลูกเข้าตลาดฯ
ส่วนความคืบหน้าการนำบริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ เอสเอวี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น วัฒน์ชัย เผยว่า ปัจจุบันผ่านขั้นตอนการยื่นแบบคำขอ และร่างหนังสือชี้ชวนต่อ กลต. เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่า จะเข้าทำการซื้อขายหุ้นได้ในช่วงเดือนมี.ค. 2563
ทั้งนี้ เอสเอวี จะเป็นบริษัทลูกที่ 5 ของกลุ่มสามารถฯ ที่เข้าตลาดฯ ซึ่งเน้นการลงทุนในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิก เซอร์วิส จำกัด หรือ CATS ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาในการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศทั่วน่านฟ้ากัมพูชาเป็นเวลารวม 39 ปี นับจากปี 2545 ถึง 2584
ทั้งนี้ การนำเอสเอสีเข้าจดทะเบีขนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นการ Unlock Value เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน ชำระคืน เงินกู้ ลดภาระดอกเบี้ย และรองรับการขยายธุรกิจใหม่ในอนาคต
"ผมเชื่อว่าวันนี้เราเดินเกมธุรกิจทั้งหมดมาถูกทางแล้ว ปีนี้แนวโน้มรายได้มากกว่าปีที่แล้วแน่นอน เราตั้งเป้าไว้ที่ 18,000 ล้านบาท" วัฒน์ชัย ทิ้งท้าย