“ดีอีเอส”ถกเอกชนหวั่น 5จี สะดุด
ระบุพร้อมชูไทยเป็นฮับไอทีดิจิทัลอาเซียน
“พุทธิพงษ์”ยันรัฐ-เอกชน พยายามผลักดันให้เกิด 5จีตามเป้าหมายในปี 63 ชี้มีโอเปอเรเตอร์บางรายยังเกิดปัญหาจากการลงทุน4จีจึงต้องพูดคุยกันให้ทุกอย่างเดินตามแผน หวั่นนักลงทุนหนี ด้านประธานสภาดิจิทัลฯ ชี้ต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค ระบุความท้าทายต้องเร่งเครื่อง 5 ภารกิจสำคัญให้ทันต่องการเปลี่ยนผ่านประเทศ
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามผลักดันการขับเคลื่อน 5จีให้เกิดขึ้นในประเทศไทยภายในปี 2563 แต่ จากการหารือร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) หลายรายยังคงติดปัญหาเนื่องจากที่ผ่านมามีการลงทุนในระบบ 4จี ที่ปัจจุบันยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน ทำให้เกิดความลังเลในการลงทุน 5จี ซึ่งหาก 5จีไม่เกิดขึ้นตามกรอบเวลาที่ได้วางไว้ จะทำให้ประเทศไทยล้าหลังกว่าประเทศอื่น จึงจำเป็นต้องมีการหารือกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน และเมื่อเป็นเช่นนั้น จะทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศนั้นๆ แทน
“การขับเคลื่อนไปสู่ 5จีรัฐบาลจะเป็นผู้ขับเคลื่อนเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพราะ 5จีจะไม่เกิดประโยชน์เฉพาะกับเรา แต่จะเกิดประโยชน์กับลูกหลานของเราในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งหาก 5จีไม่เกิดขึ้นประเทศไทยจะต้องสูญเสียเม็ดเงินในการลงทุน หรืออาจทำให้ลูกหลานเราต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านแทน” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
เขา ยังได้กล่าวในงาน "ศูนย์หนึ่งหนึ่งศูนย์" เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของบริษัท โซเชียลแล็บ จำกัด, สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) โดยมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และซอฟต์แวร์ในแวดวงเทคโนโลยีของทุกอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด The Future is Now ยกทัพเทคโนโลยีนวัตกรรมเหล่าแกดเจ็ตและซอฟต์แวร์ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ แม้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เชื่อว่า หากในปี 2563 ประเทศไทยมี 5จี เกิดขึ้น จะทำให้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงล้ำหน้าไปอย่างมาก ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัล (ดิจิทัลฮับ) ของภูมิภาคอาเซียนได้
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าความท้าทายของวันนี้ คือ การปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ภารกิจเร่งด่วน 5 เรื่องที่สภาดิจิทัลจะเร่งทำ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ คือ การช่วยสร้างมาตรฐานและตัววัดใหม่ให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัล, สร้างพันธมิตรระหว่างอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกัน, การสร้างบุคลากรทางดิจิทัล ตั้งแต่โค้ดดิ้งถึงการบริหาร, การพัฒนาทักษะและการวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคน, การสร้างทักษะใหม่และการปรับเปลี่ยนทัศนคติให้คนในระบบอุตสาหกรรม, การช่วยสร้างทัศนคติที่ให้บุคลากรรุ่นใหม่ในการปรับตัว, การร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลการบูรณาการทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมดิจิทัลให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่าน
รวมถึงการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นดิจิทัลฮับเป็นศูนย์กลางที่สนุนสนุนประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันทำให้ประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันในระดับโลกได้พัฒนาเทคโนโลยี