'กระทงมด' รักษ์สิ่งแวดล้อม ของที่ระลึกมอบในงาน การประชุมมดโลก
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดการประชุมมดโลก 11-15 พ.ย.นี้ จัดกิจกรรมงานลอยกระทงมด ครั้งแรกในประเทศไทย ระดมนิสิตภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ประดิษฐ์กระทงพร้อมตัวมดจากวัสดุธรรมชาติ ร่วมสืบสานประเพณีงานลอยกระทงของไทยและรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้น้ำเน่าเสีย
รศ.เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประชุม ANeT และการประชุมเครือข่ายการศึกษามดนานาชาติ และ เปิดเผยว่า พิพิธภัณฑ์มด (Ant Museum) และภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะจัดประชุมมดโลก (world Ant Forum Bangkok,2019 และประชุมเครือข่ายการศึกษามดนานาชาติ (ANeT) ครั้งที่ 12 ในวันที่ 11 – 15 พฤศจิกายน 2562 เวลา 08.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมจงรัก ปรีชานนท์ อาคารวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ในการประชุมมดโลกครั้งนี้พิเศษสุดสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมมดโลก จะได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมงานลอยกระทงมด ครั้งแรกในประเทศไทย โดยผลิตกระทงจากวัสดุที่ใช้จากธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วย กะลามะพร้าว ตัวมดที่ทำจากเมล็ดไม้หลายชนิดก่อตัวกันเป็นมด ภายในกะลาจะมีดอกไม้ฉีกวางพร้อมเทียน 1 เล่ม ไม่มีธูป มดอาจวางบนกองดอกไม้หรือเกาะบนต้นเทียน กระทงทำจากกะลามะพร้าว ภายในกระทงจะใส่กลีบดอกไม้ชนิดต่าง ๆ และเทียน สำหรับตัวมดทำมาจากวัสดุธรรมชาติซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้จากภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ เมล็ดไม้ และกิ่งไม้แห้ง ส่วนประกอบต่างๆ ของตัวมด ประกอบด้วย หัว ทำจากเมล็ดเต่าร้าง อก ทำจากเมล็ดพิกุล เอว ทำจากเมล็ดมะกล่ำ ท้อง ทำจากผลพิกุลอบแห้ง ส่วนขาและหนวดทำมาจากเศษกิ่งไม้แห้ง มดทุกตัวทำด้วยแฮนเมด และมดแต่ละตัวจะมีหน้าตาไม่เหมือนกันเป็นเอกลักษณ์ของวัสดุที่ทำจำนวนกว่า 100 กระทง 100 แบบจากฝีมือจากนิสิตภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในการประดิษฐ์รังสรรค์กระทงจากวัสดุธรรมชาตินี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมดโลก ได้ร่วมสืบสานประเพณีงานลอยกระทงของไทยและรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้น้ำเน่าเสียด้วย โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะนำกระทงมดไปร่วมในงาน “ลอยกระทง” ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เวลา 21.00 น. ณ บริเวณหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งองค์การบริหาร องค์การนิสิตและสโมสรคณะต่าง ๆ จัดขึ้น