หัวเว่ยชี้ "การเชื่อมต่ออัจฉริยะ-เอไอ” ตัวเร่งเศรษฐกิจดิจิทัลโต

หัวเว่ยชี้ "การเชื่อมต่ออัจฉริยะ-เอไอ” ตัวเร่งเศรษฐกิจดิจิทัลโต

หัวเว่ยชี้ ยุคการเชื่อมต่ออัจฉริยะ ผสมผสานกับเอไอ ส่งผลกระทบชัดเจนต่อเศรษฐกิจดิจิทัล เกิดจุดเปลี่ยนด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ระบุการลงทุนอย่างต่อเนื่องด้านการเชื่อมต่ออัจฉริยะ สามารถผลักดันการเติบโตจีดีพีได้มากกว่า 1% 

รายงานดัชนีการเชื่อมต่อระดับโลก (GCI) ปี 2562 ของหัวเว่ยให้ความสำคัญบทบาทเทคโนโลยีเอไอ หนึ่งในปัจจัยสำคัญผลักดันเทรนด์ “การเชื่อมต่ออัจฉริยะ” (Intelligent Connectivity) ตามด้วยเทคโนโลยีบรอดแบนด์ คลาวด์ และไอโอที ทั้ง 4 เทคโนโลยีมีแนวโน้มสูงที่จะเร่งภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับประเทศไทย ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีแนวโน้มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เป็นประเทศแรกๆ และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่โดดเด่น ไทยยังทำคะแนนสูงสุดด้านสัดส่วนผู้ใช้สมาร์ทโฟน และจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านอุปกรณ์พกพาอีกด้วย ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าจับตามอง

ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น รายงานฉบับนี้ ยังพบว่า หลายประเทศที่ทุกระดับการพัฒนาด้านดิจิทัลสามารถเข้าถึง “ศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของเอไอ” ในฐานะที่เป็นตัวเร่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เมื่อเทคโนโลยีเอไอดังกล่าวนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและองค์กรต่าง ๆ แล้ว แม้แต่ประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีชั้นนำในระดับโลก ศักยภาพของเทคโนโลยีเอไอ ยังอยู่แค่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น 

อ่านข่าว-“หัวเว่ย”รุกตลาดญี่ปุ่นเพิ่มทางเลือกใหม่สร้างรายได้

ประเทศที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ (Adopters) และประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นปรับใช้เทคโนโลยี (Starters) อย่างจีน มาเลเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์และสเปนก็ไม่ได้ถือว่าล่าช้าแต่อย่างใด เนื่องจากประเทศเหล่านั้นต่างเร่งผลักดันเทคโนโลยีเอไอให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้เช่นกัน

นายเคลวิน จาง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดด้านโครงสร้างพื้นฐานไอซีที หัวเว่ย กล่าวว่า เราเห็นว่าการหลอมรวมของเทคโนโลยี 5จี เอไอ และคลาวด์นั้น ได้สร้างนิยามใหม่ของการเชื่อมต่อ การเชื่อมต่ออัจฉริยะช่วยเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เร็วขึ้น 

ดังนั้น รัฐบาลและผู้นำอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้และประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นปรับใช้เทคโนโลยี ควรนำเทคโนโลยีใหม่ไปใช้ จัดลำดับแผนงานด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกันในระดับโลก 

ขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักว่า การเชื่อมต่ออัจฉริยะอาจจะเป็นคำตอบสำหรับการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและหยั่งรากลึกสำหรับหลายๆ สังคม รวมถึงสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง และช่องว่างทางชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจน ทั้งระบุว่า การลงทุนอย่างต่อเนื่องด้านการเชื่อมต่ออัจฉริยะ สามารถผลักดันการเติบโตจีดีพีได้มากกว่า 1%