เจโทร จูงมือ 7 สตาร์ทอัพญี่ปุ่น เดินทางเข้าไทย บุกหาคู่ลงทุน

เจโทร จูงมือ 7 สตาร์ทอัพญี่ปุ่น เดินทางเข้าไทย บุกหาคู่ลงทุน

7 สตาร์ทอัพกลุ่มดีพเทคจากญี่ปุ่นจาก "เจโทร อินโนเวชั่น โปรแกรม" (JIP) เดินทางถึงไทย เตรียมขึ้นเวทีนำเสนอผลงานและเจรจาจับคู่ธุรกิจในงานมหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ‘CEBIT ASEAN Thailand’ วันที่ 27-29 พฤศจิกายนนี้ ที่อิมแพคเมืองทองธานี

โครงการ JETRO Innovation Program เป็นโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลาง SME รวมถึงสตาร์ทอัพที่มีสินค้าหรือบริการที่เป็นนวัตกรรม เพื่อที่จะทำให้สินค้าและบริการด้านนวัตกรรมเหล่านี้ให้สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จใน ecosystem ในระดับสากลได้ การสนับสนุนด้านการทำการตลาดนับได้ว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ทางเจโทรได้ทำความร่วมมือกับทาง Accelerator สนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ด้วยเมนูความช่วยเหลือที่หลากหลาย ตั้งแต่การสร้างแผนธุรกิจ การ mentoring การจัดงาน Pitch event และงานเจรจาธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการญี่ปุ่น สนับสนุนให้สามารถขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้อย่างมั่นคง

157477433353

สำหรับการจัดโครงการในประเทศไทย (กรุงเทพฯ) นั้น ได้มีการจัดมาตั้งแต่ปี 2561 การจัดครั้งนี้เป็นปีที่ 2 สำหรับปี 2562 นี้ นอกจากจะมีการจัดโครงการในประเทศไทยแล้ว ยังมีการจัดที่สหรัฐอเมริกา (ซานฟรานซิสโก, ซิลิคอนวัลเลย์) จีน (เซินเจิ้น, เซี่ยงไฮ้) รวม 3 ประเทศ

สตาร์ทอัพจากญี่ปุ่น 7 บริษัท ซึ่ง 4 รายมีนวัตกรรมเซอร์วิสด้านไอทีและดิจิทัล อีก 3 รายเป็นนวัตกรรมด้านการแพทย์ มีดังนี้

1. “Spectee” ให้บริการแจ้งเตือน ภัยธรรมชาติ รายงานข้อมูลอุบัติเหตุและสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยใช้เทคโนโลยีเอไอทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฉพาะข้อความแจ้งเหตุบนทวิตเตอร์มีกว่า 500 ล้านครั้งต่อวันในญี่ปุ่น จึงต้องพึ่งพาเอไอทำการวิเคราะห์ แล้วนำข้อมูลมาให้บริการแบบรายเดือนผ่านแดชบอร์ด ลูกค้าหลักที่ใช้บริการในปัจจุบันคือหน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่น สำนักข่าว สื่อมวลชนและบริษัทที่ให้บริการด้านการขนส่ง รวมประมาณ 260 รายในญี่ปุ่น

2. “Abeja” มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี Deep Learning และแพลตฟอร์มเอไอ สำหรับให้บริการวิเคราะห์ระบบงานในองค์กรเพื่อนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ปัจจุบันให้บริการกว่า 150 องค์กรในหลากหลายธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน นอกจากในประเทศญี่ปุ่นแล้ว บริษัทมีสาขาในสิงคโปร์ โดยมีจุดมุ่งหมายที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตของธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

157477427795

3. “Studist” แอพพลิเคชั่นสร้างคู่มือการทำงานที่มี interface ใช้งานง่ายบนสมาร์ทโฟน ทดแทนคู่มือที่เป็นเล่มเอกสาร ทำให้ในองค์กรสามารถทำการแชร์ข้อมูลวิธีการทำงานและจุดที่ควรระมัดระวังได้แบบเรียลไทม์ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ยกระดับการสื่อสารและคุณภาพของผลผลิตในองค์กร กลุ่มลูกค้าคือองค์กรในอุตสาหกรรมการผลิตและร้านอาหาร รวมประมาณ 2,700 รายทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ
เมื่อต้นปี 2561 ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ใช้บริการ 33 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทย จึงต้องการขยายฐานลูกค้าเข้าหาผู้ประกอบการไทย


4. “Soramitsu” ให้บริการด้านฟินเทคโดยใช้เทคโนโลยีบลอคเชน ที่ผ่านมาได้ให้บริการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลและพัฒนาระบบการโอนเงินผ่านสมาร์ทดีไวซ์ให้กับธนาคารแห่งชาติกัมพูชา เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ขณะที่ทุกคนมีสมาร์ทโฟน

157477424713

5. “VisGene” ชุดตรวจสอบไวรัสไข้เลือดออกจากจีโนม ก่อตั้งโดยกลุ่มนักนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ทำการวิจัยและพัฒนาเทสต์คิตตรวจโรคไข้เลือดออก จากชุดของดีเอ็นเอที่บรรจุอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์หรือจีโนม เครื่องมือนี้แสดงผลภายใน 15 นาที ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบรวมถึงเก็บข้อมูลจีโนมของเชื้อไข้เลือดออกในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงทดสอบใช้ที่ รพ.นครนายก จุดประสงค์เพื่อให้ทราบการติดเชื้อไข้เลือดออกได้อย่างทันท่วงที เพื่อทำการรักษาได้อย่างแม่นยำ ด้วยค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ไม่สูง


6. “AIVS” ให้บริการเซ็นเซอร์ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุทั้งที่อยู่ที่บ้านและโรงพยาบาล จุดเด่นอยู่ที่เซ็นเซอร์รับแรงกดและแรงสั่นสะเทือนของเตียง ที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถส่งข้อมูล เพื่อทำการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว จึงช่วยลดอุบัติเหตุจากการตกเตียง เซ็นเซอร์ที่ให้ส่งสัญญาณไม่จำเป็นต้องเดินสายไฟ มีการส่งข้อมูลให้กับกล่องรับสัญญาณที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อทำการแจ้งเตือน


7.“Xcoo” (เท็นคู) โปรแกรมเอไอวิเคราะห์มะเร็งจากจีโนมหรือในนิวเคลียสของเซลล์ เพื่อวิเคราะห์ประเภทของโรคมะเร็งนำไปสู่การกำหนดแนวทางการรักษาที่แม่นยำ โดยทำการวิจัยที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว รวมถึงในไทยโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลและศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ทีเซลส์) จุดเด่นอยู่ที่การใช้ Chrovis ซึ่งเป็นโปรแกรมเอไอที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมที่มีปริมาณมหาศาลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ