‘ทีเซลส์’ เปิดดีล ‘เอ็นเฮลท์’ รับเทรนด์ศาสตร์ใหม่ การแพทย์แม่นยำ
ทีเซลส์ จับมือ เอ็นเฮลท์ ใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยทางพันธุศาสตร์ระดับจีโนมและโครงการพื้นฐานผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและบริการด้านการแพทย์แบบเฉพาะเจาะจงต่อผู้ป่วย
นายณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ กรรมการผู้จัดการบริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด หรือ เอ็นเฮลท์ (N Health) กล่าวว่า เอ็นเฮลท์เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ หน้าที่ของเราคือ เป็นผู้ให้บริการ สนับสนุน ทางด้านการแพทย์และธุรกิจโรงพยาบาล จึงต้องพัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถในการบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการบันทึกเอ็มโอยูเพื่อร่วมมือกันในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ถูกผลิตและคิดค้นโดยนัก วิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญไทยให้เข้าสู่ตลาดการแข่งขันทางธุรกิจได้
บริษัทมีความพร้อมทางด้านบุคลากรและเทคโนโลยี ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรทางด้านการแพทย์และธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทยและภูมิภาค
ทั้งนี้ เอ็นเฮลท์ยังสนใจในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมหนึ่งในนั้นคือ เรื่องของพันธุศาสตร์ (Genetics) และเวชกรรมแบบเจาะจง (Precision Medicine) ศาสตร์ใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถวินิจฉัยและรักษาโรคยากๆได้อย่างตรงจุด ซึ่งมีการศึกษาลงลึกไปถึงระดับยีนของผู้ป่วย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา ลดขั้นตอนความซ้ำซ้อน และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวใช้ชีวิตปกติได้เร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะเจาะจงกันในเรื่องของเวชศาสตร์ชะลอวัยการดูแลคนไข้ที่เป็นโรคร้ายแรง อาทิ มะเร็ง
"เราจำเป็นต้องรู้ว่ายีนของผู้ที่รับการรักษาเป็นยีนที่ตอบสนองต่อยาและการรักษาหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นการรักษาก็จะศูนย์เปล่าหรืออาจส่งผลเสียต่อผู้ที่รับการรักษาเจ็บตัวหรือมีผลข้างเคียงกับการรักษามากกว่าเดิม อดีตหากมีเคสที่จะต้องตรวจเลือดหรือตรวจยีน ส่วนที่เป็นการตรวจที่ค่อนข้างใช้องค์ความรู้เฉพาะด้านและซับซ้อน เราก็จะส่งไปที่ทีเซลส์และแล็บที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่หากมีการร่วมกันวิจัยและพัฒนาก็จะทำให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนกันการทำงานซึ่งกันและกันได้ จะส่งผลให้เกิดองค์ความรู้มากมาย ที่เราสามารถสนับสนุนและนำองค์ความรู้ต่างๆมารักษาคนไข้ได้จริง” นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าว
ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ได้มีการวางแผนนำร่องมาระยะหนึ่ง โดยพยายามที่จะนำองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆกระจายออกสู่ภาคเอกชน เราจำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์ภาคเอกชน ซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงทุนในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี ซึ่งเอ็นเฮลท์นับเป็นผู้ให้บริการทางด้านการแพทย์และธุรกิจโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญและมีสาขาการให้บริการตรงกับความรู้ ความต้องการของทีเซลส์ ทั้งเรื่องของการนำความรู้ในห้องแล็บไปใช้เพื่อที่จะทำให้การรักษา การตรวจวินิจฉัย การป้องกันที่เป็นไปได้โดยแม่นยำยิ่งขึ้น
“นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมในเรื่องของการให้ความรู้เป็นหลักเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต่อยอดสู่การผลิตผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมสาธารณสุขไทย สร้างโอกาสในการพัฒนาโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจและประชาชนให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 นับว่าในวันนี้เครือข่ายกว้างไกลไปอีกขั้นทำให้สามารถขยายวงกว้างมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ความแม่นยำและมีวิธีการแตกต่างกันจำเพาะเจาะจงมากขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่จะไปตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศในด้าน BCG เป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศต่อไป”