วว.นำร่อง ‘อ.ภูเรือ จ.เลย’ พัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ
วว.นำร่อง อ.ภูเรือ จ.เลย ส่งองค์ความรู้จากแล็บ ช่วยยกระดับเกษตรแปลงใหญ่กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับในภาคอีสาน ทั้งเบญจมาศ เยอบีร่าและต้นลิเซียนทัส พร้อมทั้งวิเคราะห์โภชนาการและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใบชา สร้างเกษตรกรไฮเทค/ชุมชนต้นแบบ เพิ่มมูลค่าการส่งออก
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ส่งเสริมพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ สร้างเกษตรกรไฮเทค/ชุมชนต้นแบบ 13 กลุ่ม ในพื้นที่จังหวัดเลย สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับ และเป็นต้นแบบในการนำเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปใช้ได้จริง สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตไม้ดอกไม้ประดับ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ไม้ดอกไม้ประดับถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นอย่างเช่น อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการปลูกเลี้ยงและส่งออกไม้ดอกไม้ประดับเป็นจำนวนมาก และมีระยะเวลาการปลูกเลี้ยงยาวนาน รวมทั้งมีการปลูกเลี้ยงพันธุ์ไม้ชนิดเดิมๆ ทำให้ผลผลิตราคาจำหน่ายคงที่และมีราคาตกต่ำลง ด้วยตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมการเกษตรสร้างสรรค์ ภายใต้การดำเนินโครงการการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovative Agriculture : InnoAgri) นำองค์ความรู้ วทน. การพัฒนาพันธุ์ไม้ชนิดใหม่เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาให้กับเกษตรกรและชุมชน เพื่อสร้างสินค้าเกษตรชนิดใหม่ตามศักยภาพในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ พื้นที่จังหวัดเลย พร้อมยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับให้เป็นเกษตรกรไฮเทค (InnoAgri farmer) ที่สามารถนำ วทน. ที่เหมาะกับยุคสมัยไปใช้สำหรับลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้ยั่งยืน
“วว. ดำเนินงานโครงการ InnoAgri เพื่อนำผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งการพัฒนาประเทศที่ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนั้น สอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทย 4.0 ภายใต้แนวทางการปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบเดิม (Traditional Farming) ซึ่งใช้แรงงานเป็นหลักไปสู่การพัฒนาด้วยระบบบริการจัดการและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Smart Farming) มุ่งเน้นการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ผลสำเร็จในการดำเนินงานของ วว. ในพื้นที่จังหวัดเลย จะเป็นต้นแบบการส่งเสริมโดย วทน. ให้กับพื้นที่อื่นๆต่อไป” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า วว. ได้นำงานวิจัยไปถ่ายทอดเพื่อเพิ่มองค์ความรู้และพัฒนาการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับสร้างรายได้ให้กับชุมชน ในพื้นที่ให้ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ภายใต้กรอบการดำเนินงานขององค์ความรู้ วทน. จำนวน 6 ด้านหลัก ดังนี้ 1.การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ในการขยายพันธุ์พืชจำนวนมาก สามารถลดต้นทุนในการผลิตต้นกล้าพันธุ์ได้ 2.การจัดดอกไม้เป็นของขวัญ เพื่อใช้ประโยชน์จากไม้ดอกไม้ประดับที่มีการปลูกเลี้ยงและพันธุ์ไม้ท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่ม 3.การแปรรูปและพัฒนาชาดอกไม้จากพันธุ์ไม้ที่มีการปลูกเลี้ยง เช่น กาแฟ ดาวเรือง และพันธุ์ไม้ท้องถิ่นให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ 4.การทำภาชนะปลูกจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น ดินเหนียว ฟางข้าว และกก พัฒนาเป็นภาชนะสำหรับปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า 5.การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีระดับครัวเรือน เพื่อลดต้นทุนในการจัดซื้อปุ๋ยเคมี ประยุกต์ใช้วัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาทำปุ๋ยหมัก และ 6.การป้องกันโรคและแมลง เพื่อหาวิธีป้องกันจากศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแมลงหวี่ขาว เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยไฟ
นอกจากนี้ วว. ได้ร่วมพัฒนากลุ่มเกษตรกรไม้ดอกไม้ประดับ จำนวน 13 กลุ่ม ดังนี้
1.การพัฒนากลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงเบญจมาศ จำนวน 4 กลุ่ม ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเบญจมาศสายพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการวิจัยของ วว. ซึ่งมีจุดเด่นของพันธุ์คือ ดอกสวย สีสดเด่น ทรงพุ่มสวย บางชนิดมีศักยภาพต้านทางโรคราสนิม มากกว่า 44 สายพันธุ์ เพื่อพัฒนาเป็นไม้ตัดดอก และไม้ดอกในกระถาง
“เบญจมาศที่ วว. นำมาส่งเสริมจะมีขนาดดอกใหญ่ กลีบหนา มีสีสดและมีความหลากหลายของสีประมาณ 10 สี ซึ่งพันธุ์เดิมที่เราปลูกนั้นจะมีจำนวนสีน้อย ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกน้อย นอกจากนี้พันธุ์ที่ วว. นำมาส่งเสริมยังมีลำต้นแข็งแรง มีความต้านทานโรคได้ดี ในปีหน้าผลผลิตของเบญจมาศกลุ่มนี้จะออกสู่ตลาด มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้กลุ่มของเราเข้มแข็งยิ่งขึ้นและมีผลผลิตที่หลากหลายให้กับตลาด” นายพิเชษฐ์ อุทังชายา หนึ่งในเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงเบญจมาศ กล่าว
2.การพัฒนากลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงลิเซียนทัส จำนวน 2 กลุ่ม ส่งเสริมและทดลองปลูกเลี้ยงต้นลิเซียนทัส ในรูปแบบไม้กระถาง เพื่อเพิ่มมูลค่าจากดอกไม้สีสันใหม่ๆ และเป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ที่จะเริ่มมีการปลูกเลี้ยงในพื้นที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ตั้งแต่กระบวนการเพาะเมล็ด การดูแลรักษา จนกระทั่งสามารถออกดอก พร้อมจำหน่ายในตลาด
3.การพัฒนากลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงเยอบีร่า จำนวน 1 กลุ่ม วิจัยและพัฒนาพรรณไม้เยอบีร่าสายพันธุ์ใหม่ที่ได้จากงานวิจัย และเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบชนิดใหม่ เพื่อผลิตเชิงการค้าให้กับกลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดอก โดยเน้นการลดต้นทุนจากต้นแม่พันธุ์ และการเพิ่มมูลค่าจากดอกสีสันใหม่ ๆ
4.การพัฒนาระบบการขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับด้วย วทน. จำนวน 1 กลุ่ม วิจัยและพัฒนาห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชระดับชุมชนสำหรับขยายสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ จำหน่ายต้นพันธุ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งช่วยลดราคาต้นทุนผลผลิตให้กับเกษตรกร
5.การพัฒนาการแปรรูปชาจากดอกไม้ จำนวน 3 กลุ่ม พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูปและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาดอกกาแฟ เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน ชาจากพืชสมุนไพรธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ต้นเนียม อ้ม และไม้ดอกพื้นบ้าน โดยวิเคราะห์ตรวจสอบคุณค่าทางโภชนาการของชา เพื่อปรับปรุงสูตรและออกแบบรูปแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์เพื่อสินค้า รวมทั้งช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากผลผลิตการเกษตรในพื้นที่
6.การพัฒนาภาชนะปลูกจากธรรมชาติ จำนวน 2 กลุ่ม วิจัยและพัฒนาภาชนะปลูกเลี้ยงไม้กระถางเพื่อจำหน่ายและยกระดับสินค้าไม้ประดับของชุมชนให้มีลักษณะโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์
นอกจากนี้ วว. ได้พัฒนาเกษตรกรชุมชนต้นแบบด้านการผลิตพืช ปุ๋ย ภาชนะปลูกจากวัตถุท้องถิ่น การแปรรูปไม้ดอก และแบบผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ เกษตรแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านแก่งไฮ ต.หนองบัว อ.ภูเรือ จ.เลย วว. ส่งเสริมการปลูกเลี้ยงไม้ใบ เช่น หน้าวัวใบ บิโกเนีย และพืชสกุลอโกลนีมา รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปดอกไม้เพื่อเป็นสบู่ ตอบรับกระแสสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรชุมชนต้นแบบ
เกษตรแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ ต.สานตม อ.ภูเรือ จ.เลย วิจัยและพัฒนา ส่งเสริมการปลูกเลี้ยงเยอบีร่าสายพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการส่งออก พัฒนาและส่งเสริมการปลูกเลี้ยงต้นลิเซียนทัส สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรด้านการจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับทางเลือก อีกทั้งยังส่งเสริมการปลูกเลี้ยงต้นเบญจมาศด้วย กลุ่มมีสมาชิก 55 ราย ปลูกคริสต์มาสส่งขายทั้งในและต่างประเทศ เดิมทำเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันกลายเป็นรายได้หลัก วว. ได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกไม้ดอกอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น เบญจมาศ ลิเซียนทัส ทำให้มีความหลากหลายของผลผลิตมากขึ้น ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ วว. ยังเข้ามาส่งเสริมการผลิตกระถางจากวัสดุในพื้นที่ ซึ่งอยู่ระหว่างทดสอบประสิทธิภาพ ทั้งนี้พันธุ์คริสต์มาสที่กลุ่มปลูกเริ่มแก่เนื่องจากใช้มากว่า 30 ปีแล้ว ต้องการให้ วว.พัฒนาพันธุ์ใหม่ๆให้เพื่อความยั่งยืนในการปลูกเพื่อการค้า
โครงการส่งเสริมพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือดังกล่าวของ วว. เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ชุมชม ในรูปแบบเกษตรประณีตซึ่งมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ 1 ไร่ ให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด หรือ “ทำน้อย ได้มาก” นอกจากนี้ผู้รับการถ่ายทอดความรู้ยังสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร ช่วยเสริมรายได้ให้แก่ตนเองและชุมชนได้อย่างยั่งยืน