คาด "คลื่น2600" ขายออก 30-40 เมก
นักวิจัยโทรคมนาคมเชื่อมีเอกชนจ้องเอาคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ไปทำ 5จีอย่างน้อย 1 ราย
ชี้แม้มีเอกชนบ่นเรื่องหลักเกณฑ์แต่สุดท้ายก็ยังเข้าประมูลอยู่ดี ส่วนคลื่น 3500 เมกแม้มีศักยภาพให้บริการได้ดี แต่ยกเป็นเรื่องอนาคตเพราะกสทช.คงเดดไลน์วันประมูลไว้ตามเดิมไม่เลื่อนตามคำขอแน่นอน
นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงการรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศกสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 700 ,1800 , 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า คลื่นที่นำออกประมูลเป็นไปตามข่าวที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์เลขาธิการกสทช. ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ จากร่างประกาศหลักเกณฑ์ฯ ที่ประกาศออกมา คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์เป็นคลื่นที่เอกชนให้ความสนใจมากที่สุด แม้ในการแสดงความคิดเห็นอาจจะแสดงให้เห็นถึงความกังวลหลายข้อ แต่เชื่อว่าก็จะยังเป็นคลื่นความถี่ย่านที่เอกชนต้องการเอาไปทำ 5จีอย่างไรเสียก็คงมีผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูล และการนำคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูลที่ 100 เมกกะเฮิรตซ์ ก็ถือว่าไม่น่าเป็นอุปสรรคหากจะมีเอกชนสนใจนำคลื่นย่าน 2600 ไปทำ 5จีได้ 1-2 ราย
ส่วนคลื่นอื่นทั้ง 700 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เป็นส่วนที่เหลือจากการประมูลครั้งก่อน ที่อาจมีผู้สนใจ อาทิ รัฐวิสาหกิจที่อาจเข้าร่วมประมูลด้วย รวมถึงย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ ที่มีความท้าทายในแง่การนำไปสร้างโครงข่าย ที่ต้องผสมผสานกันกับคลื่นเดิม เพราะลำพัง 26 กิกะเฮิรตซ์ อาจไม่ใช่คลื่นหลักของ 5จีสำหรับการสร้างพื้นที่ครอบคลุมแบบวงกว้าง หรือ ให้ทั่วประเทศ ส่วนที่มีเอกชนบางรายเสนอให้ชะลอการประมูลออกไปก่อน เพื่อให้สามารถนำคลื่นย่านอื่น คือ คลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ มาเข้าร่วมการประมูลได้นั้น
แม้โดยข้อเท็จจริงคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ จะเป็นคลื่นที่มีศักยภาพสำหรับ 5จีและใช้งานแพร่หลาย รวมถึงมีอุปกรณ์เครือข่ายจากผู้ผลิตหลายราย แต่เชื่อว่า กสทช. ได้พิจารณาแล้วว่า การเอาคลื่นมาจัดสรรต้องใช้เวลา หากรอหรือยืดเวลาการประมูลคลื่นออกไปอีกจะทำให้การเกิด 5จีของประเทศที่หลายฝ่ายคาดหวังจะล่าช้าออกไปอีก ดังนั้น จึงเชื่อว่าการประมูลจะไม่ยืดหรือชะลอออกไปจากกำหนดในวันที่ 16 ก.พ. 2563 จะมีการประมูลคลื่นค่อนข้างแน่นอน ส่วนคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ เป็นเรื่องที่จะมาในอนาคต
“หลักเกณฑ์ฯ ที่ออกมาค่อนข้างดี ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นจากผู้ประกอบการมาก่อนแล้ว พอหลักเกณฑ์ฯ ออกมาแนวนี้ เอกชนน่าจะรับได้ สังเกตว่าการแสดงความคิดเห็นไม่ได้มีประเด็นอะไรน่าเป็นห่วงมาก ในแง่การนำมาทำ 5จีคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ มีความน่าสนใจที่สุด และหากยังไม่มี 3500 เมกะเฮิรตซ์ เชื่อว่าสุดท้ายจะมีคนคว้าไปอย่างน้อย 1 ราย ที่ 30-40 เมกกะเฮิรตซ์"
เขา เสริมอีกว่า จริงอยู่ที่มีคนบอกว่าถ้าจะเอาคลื่น 2600 เมกกะเฮิรตซ์ ไปทำ 5จี ให้เต็มประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีคลื่นที่มีแบนด์วิธกว้าง 100 เมกะเฮิรตซ์ แต่ดูจากราคาที่เสนอแล้วใครจะซื้อ100 เมกะเฮิรตซ์ ต้องใช้เม็ดเงินสูง ถ้าดูจากตัวอย่างจากผู้ให้บริการในต่างประเทศ สามารถเริ่มต้นให้บริการ 5จี ด้วยแบนด์วิธระดับ 30-40 เมกกะเฮิรตซ์ไปก่อนได้ และมาเพิ่มแบนวิธเป็น 80 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 100 เมกะเฮิรตซ์ได้ภายหลังจะทำให้การให้บริการ 5จีมีคุณภาพมากขึ้น ผลการเคาะราคาจะเป็นยังไงขึ้นอยู่กับเม็ดเงินลงทุน และคลื่นความถี่ที่ยังเหลือหรือนำออกจัดสรรได้ จากนี้ขึ้นอยู่กับเอกชนแต่ละรายว่าคิดโรดแมพ 5จีของตัวเองไว้ลักษณะใด