‘สุวิทย์’ชูถุงขยะรักษ์โลก ต้นแบบเศรษฐกิจบีซีจี ปฏิวัติถุงพลาสติก
ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะอินทรีย์ ผลิตโดยใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบเริ่มต้น ถูกจัดให้เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” นำมาใช้พัฒนาตอบโจทย์ BCG Economy ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ประกาศผลักดันเต็มสูบในปี 2563
“ปี 2563 เรียกว่า 2020 Year of BCG กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เริ่มจากภาคเอกชนที่ต้องการวัตถุดิบ ไปที่ชุมชนแหล่งวัตถุดิบ และประชาชนในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบ ทำให้ข้าว ยาง มัน ปาล์ม มีมูลค่าเพิ่ม” สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าว
จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป โดยเป็นนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้โรดแมพการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 กระทรวง อว. จึงขานรับนโยบายดังกล่าว ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะพลาสติก โดยปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติกด้วยการวิจัยและพัฒนา "ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร” เปลี่ยนมันสำปะหลังโดยพัฒนาสูตรในห้องปฏิบัติการเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพและทำการผสมสูตรเพื่อเพิ่มสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับการนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบางและผลิตขึ้นรูป ซึ่งได้นำร่องใช้งานจริงในงานกาชาด ประจำปี 2562
ทั้งนี้ ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับใส่ขยะเศษอาหาร เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการพัฒนาตอบโจทย์ BCG Economy ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดยการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการเพิ่มคุณค่าหรือการประยุกต์ใช้งานและการแปรรูปของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเกษตร เพื่อทำให้ผลผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิม มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ลดปริมาณถุงพลาสติก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์เอสเอ็มอีไทย และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ปีแห่งการขับเคลื่อน บีซีจี
สุวิทย์ กล่าวว่า BCG เป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายในบนฐานที่เป็นจุดแข็งโดยมีหลักการ 3 ประการคือ 1.ต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะส่งผลให้รายได้ของคนในประเทศเพิ่มขึ้น 2.เดินหน้าไปสู่ศตวรรษที่ 21 แบบที่ไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง ด้วยการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม 3.การพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ประเด็นสำคัญ BCG จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ฯ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน
ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผลิตขยะออกมากว่า 2 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้สามารถรีไซเคิลได้จริงไม่เกิน 5 แสนตัน ฉะนั้น ต่อไปนี้ขยะจะต้องย่อยสลายได้ในที่สุด นับเป็น BCG in Action ที่จะไปตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืน
“โจทย์วันนี้เราสามารถที่จะนำมันสำปะหลังเข้ามาเป็นส่วนผสมในการผลิตถุงพลาสติกย่อยสลายได้ 100% จากการนำแป้งมันที่ดัดแปรให้อยู่ในรูปของ TAPIOPLAST ช่วยลดต้นทุนลงกว่า 20% แต่ที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ทำให้ราคามันสำปะหลังนั้นดีขึ้น และต่อยอดสู่การผลิตที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้”
สิ่งที่สำคัญคือ โอกาสในเรื่องของถุงพลาสติกย่อยสลายได้ที่มีเพียง 1% ของถุงพลาสติกทั้งหมด และจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 100% ภายใน 5 ปี แต่เนื่องจากต้นทุนถุงพลาสติกย่อยสลายได้แพงกว่าถุงพลาสติกทั่วไป 2-3 เท่า สิ่งที่จะต้องทำในเชิงของภาครัฐมี 3 ประเด็นคือ
1.สนับสนุนให้ผู้ประกอบการถุงพลาสติกทั่วไปสามารถเข้าถึงกระบวนการผลิตถุงพลาสติกย่อยสลายได้โดยใช้แป้งมันสำปะหลังตามกระบวนการวิจัยของเอ็มเทคและพันธมิตร ทำให้โรงงานถุงพลาสติกที่มีแรงกดดันจากสังคมมีทางออก
2.ผลจากนวัตกรรมไม่ได้จบอยู่แค่ถุงพลาสติกแต่สามารถขยายผลไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งมีโอกาสทางการตลาดอย่างมหาศาล
3.การรณรงค์ให้เกิดกระแสรักสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยทาง อว.ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ปีหน้าเป็นปีแห่งการขับเคลื่อน BCG economy อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น การรณรงค์เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ Zero waste ผ่านสถาบันการศึกษา ภาคเอกชนและชุมชนเป็นสำคัญ
หารือมาตรการอุดหนุนถุงพลาสติกย่อยสลายได้
“แม้ในส่วนของต้นทุนพลาสติกที่ย่อยสลายได้อาจสูง ถ้ามีการรณรงค์ให้ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้เพิ่มขึ้น ก็เป็นส่วนของฝั่งดีมานด์ที่จะไปช่วยทำให้ทุกคนตอบโจทย์ circular economy ร่วมกัน ส่วนด้านซัพพลายอาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนได้มากขึ้น โดยใช้มาตรการด้านภาษีของรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการชดเชยเรื่องของพลาสติกย่อยสลายให้มีราคาที่ถูกลงจนสามารถแข่งขันกับพลาสติกทั่วไปได้"
ตรงจุดนี้มาตรการทางภาษีจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่นอกเหนือจากการกระตุ้นผู้บริโภคให้มีจิตสำนึก ทาง อว.อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังเนื่องจากจะก่อให้เกิดผลประโยชน์กับทุกฝ่าย อีกทั้งรัฐบาลเองที่จะช่วยลดต้นทุนในการกำจัดขยะที่สูง ด้านผู้ประกอบการที่จะมีวัตถุดิบในราคาที่ถูกลง เพื่อผลิตสินค้าออกสู่ตลาดในราคาที่ผู้บริโภคจับต้องได้ ดังนั้น เมื่อเกิดมาตรการตรงส่วนนี้ต้นทุนทั้งระบบก็จะลดตามไปด้วย
ขณะเดียวกันเรื่องของการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ ที่จัดสรรงบบางส่วนมาไว้ตรงกลางเพื่อจะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีทั้ง 4 ด้าน คือ การสร้างคน สร้างขีดความสามารถ ลดความเหลื่อมล้ำและตอบโจทย์ประเด็นท้าทาย นับว่าเป็นเรื่องใหม่ จึงจำเป็นจะต้องมีการสื่อความกับหน่วยงานที่พิจารณาด้านงบประมาณ เช่น คณะกรรมาธิการงบประมาณ เนื่องจากมีโจทย์ประเทศที่รอการพัฒนา กอปรกับงบประมาณที่จำกัดนั้นจะเสริมในส่วนของระบบงบประมาณด้าน RDI ในรูปแบบใหม่อีกด้วย