‘หัวเว่ย’ ผนึกรัฐ-อุตฯไทย ดัน 5จี พลิกโฉมเศรษฐกิจ
“หัวเว่ย” ปักธงพัฒนา 5จี ตลาดไทย เร่งเครื่องสร้างความร่วมมือภาครัฐ อุตสาหกรรม ประชากร พร้อมนำเทคโนโลยีอัจฉริยะคลาวด์-เอไอ พลิกโฉมการใช้ชีวิต
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หัวเว่ยมีแผนที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำ 5จี เข้ามาช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ ผ่านความร่วมมือทั้ง 3 ด้าน คือ ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน โดยส่วนของภาครัฐจะมีการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการมาตรการภาษี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไอซีที และการสนับสนุนทางด้านกฎหมายที่เอื้อต่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 5จี
ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรม ร่วมมือกันสนับสนุนการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอีโคซิสเต็มให้รองรับ 5จี ซึ่งจะช่วยเร่งให้ภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ ด้านภาคประชาชนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ เช่น 5จี คลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำรงชีวิต เช่น ธุรกิจค้าปลีกอัจฉริยะ การแพทย์อัจฉริยะ การศึกษาอัจฉริยะ
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่เทคโนโลยี 5จี จะเข้ามามีบทบาทแน่นอน คือ การขนส่งเดินทาง การผลิต เกม และโลจิสติกส์ จากกรณีการใช้งานจริงในประเทศต่างๆ พบด้วยว่ามีความเป็นไปได้ในหลายๆ ด้าน ทั้งการผสมผสานใช้เทคโนโลยีเออาร์ วีอาร์ รวมไปถึงการยกระดับการขนส่งในอุตสาหกรรมเหมืองแร่
เขากล่าวว่า ภายในปี 2568 เทคโนโลยี 5จี จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับโลกกว่า 12.4 ล้านล้านดอลลาร์ สร้างอาชีพใหม่กว่า 20 ล้านอาชีพ ปัจจุบันเมืองสำคัญหลายแห่งทั่วโลกได้นำ 5จี มาใช้แล้ว เช่น กรุงลอนดอน ซูริค กรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หางโจว มิลาน กรุงเบอร์ลิน โดฮา บาร์เซโลนา โดยมีโอเปอเรเตอร์กว่า 60 ราย จากกว่า 20 ประเทศเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์
“5จี ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีที่พัฒนามาจาก 4จี แต่เป็นเทคโนโลยีที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด แล้วร่วมมือกันผลักดันประเทศไทยสู่ดิจิทัล”
พร้อมระบุว่า ปี 2563 จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมไอซีทีไทย โดย 5จีจะสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมทั้งหมด ทว่าจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ อุตสาหกรรม และประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ
ที่ผ่านมาวิวัฒนาการของเทคโนโลยีนับตั้งแต่ 2จี มาจนถึง 4จีใช้เวลานานกว่า 20 ปี แต่การมาถึงของเทคโนโลยีไอซีทีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอไอ คลาวด์ หรือ 5จี เกิดขึ้นเร็วกว่าหลายเท่า ทั้งจะมีบทบาททั้งด้านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน การตัดสินใจขององค์กรธุรกิจ ไปจนถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ