จีนผนึกไทยตั้ง 'ศูนย์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' แห่งเดียวในอาเซียน

จีนผนึกไทยตั้ง 'ศูนย์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' แห่งเดียวในอาเซียน

วช.ขับเคลื่อนความร่วมมือการวิจัย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จับมือจีนตั้งศูนย์ความเป็นเลิศนานาชาติเพื่อการพัฒนายั่งยืนในระดับภูมิภาค นำร่องศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตโดยใช้แบบจำลองจากจีนและแบ่งปันข้อมูลบิ๊กดาต้าโลก เผยไทยจะเป็น 1 ใน 8 ศูนย์ของโลก

ประเทศไทยจัดตั้ง “ศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (DBAR)” ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) เป็นหนึ่งในจำนวน 8 ศูนย์ทั่วโลกที่ได้จัดตั้งในประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย ฟินแลนด์ อิตาลี ปากีสถาน โมรอคโค รัสเซีย สหรัฐและแซมเบีย โดยศูนย์ DBAR ที่ วช. เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศนานาชาติแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

157743744387

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ วช. กล่าวบรรยายในพิธีเปิดการประชุม “4th Digital Belt and Road Conference” ที่เมืองเซินเจิ้น ว่า ในการดำเนินงานของศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กรุงเทพฯ ทางฝ่ายไทยมี วช. เป็นศูนย์กลางโดยร่วมกับอีก 3 หน่วยงาน คือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยรามคำแหง 

ทำการวิจัยและบูรณาการข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัย รวมทั้งการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นหลักคือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ และภาวะภัยพิบัติต่างๆ 

157743746117

ทางไทยมีโครงการนำร่อง 2 โครงการ คือ 1. การประเมินความสามารถการจำลองภูมิอากาศของแบบจำลอง CAS-ESM และการคาดประมาณการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต ในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ 2. การประเมินเชิงบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจโลกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย 

รวมทั้งจะส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนในการแบ่งปันความเชี่ยวชาญ ความรู้ เทคโนโลยีและข้อมูล Big Earth Data ผ่านแพลตฟอร์มข้อมูลหลัก “CASEarth” ซึ่งพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ 1,200 คนจาก 130 สถาบันทั่วโลก เพื่อแก้ปัญหาคอขวดในการเข้าถึงและการแบ่งปันข้อมูล เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ รวมถึงการสร้างระบบสนับสนุนการตัดสินใจในระดับนโยบายซึ่งสามารถนำมาสนับสนุนการดำเนินงานในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

157743748099

ส่วนการประชุม “4th Digital Belt and Road Conference” มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือ การสร้างเครือข่ายและการทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค ให้บรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ทำความเข้าใจและสื่อสารปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานสำหรับตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความท้าทายและความสำเร็จในการใช้ Big Earth Data จากประสบการณ์ในปัจจุบันหรือโครงการที่เสร็จสมบูรณ์ โดยมีนักวิจัยและผู้บริหาร จำนวน 350 คน จาก 30 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม