2020 แบรนด์ ไปทางไหนภายใต้กระแสรักษ์โลก
สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์ ดีไซเนอร์ร่วมสมัยแห่งยุคนี้รวบรวมเทคนิคการวางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ ภายใต้เมกะเทรนด์ “กระแสรักษ์โลก”
ขวบปีที่ผ่านมากระแสรักษ์โลกเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัด คือการร่วมมือร่วมใจงดให้บริการถุงพลาสติกในร้านค้าปลีกที่มีผลตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม ยังผลให้ผู้บริโภคต้องปรับพฤติกรรมพกถุงผ้าทุกครั้งที่ก้าวออกจากบ้าน แม้ว่าถุงพลาสติกอาจเป็นปลายเหตุในการรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่อย่างน้อยมันช่วยกระตุ้นจิตสำนึกให้กับผู้บริโภคได้ในทางอ้อม บทความเปิดศักราชใหม่ของพุทธศักราชที่ 2563 ผมขอสรุปแนวโน้มการเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม
แบรนด์กรีนๆ (Sustainable Brand) แนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นหัวใจหลักที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานน้อยที่สุด การขนส่งที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ รวมไปถึงรูปแบบการสื่อสารทางการตลาด หรืออาจกล่าวได้ว่า แบรนด์แบบกรีนๆ จะต้องเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กรในทุกอณูมากกว่าการถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดเพียงอย่างเดียว เช่น แบรนด์ของเล่นไม้ PlanToys ที่เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน พร้อมปลูกฝังการทำงานอย่างยั่งยืนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมภายในสำนักงาน จึงไม่น่าแปลกใจว่า PlanToys ได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมจากทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล
ความเชื่อของแบรนด์ (Brand Purpose) หน้าที่หลักที่ผู้ประกอบการจะต้องทำคือ การสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนในทุกจุดสัมผัส (Touchpoints) เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในตัวแบรนด์ เหตุเพราะข้อมูลมหาศาล (Big Data) เกิดขึ้นมากมายบนโลกออนไลน์ ดังนั้นการตอกย้ำตัวตนของแบรนด์ให้ชัดเจนจะช่วยให้ผู้บริโภคสัมผัสถึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในแบรนด์นั้น ๆ เช่น แบรนด์ IKEA กับการสร้างชีวิตที่ดีให้กับผู้คนมากกว่าการนำเสนอสินค้าเฟอร์นิเจอร์เพียงอย่างเดียว
ประสบการณ์สร้างแบรนด์ (Experiential Branding) ลำพังเพียงแค่ผลิตภัณฑ์อย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป แต่การสร้างประสบการณ์ดี ๆ ตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนการซื้อ ระหว่างการซื้อ รวมไปถึงหลังการขาย มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความประทับใจ ดังนั้น งานออกแบบบริการ (Service Design) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ เช่น แบรนด์ Starbucks กับการสร้างบรรยากาศภายในร้านที่นอกจากสะท้อนตัวตนของแบรนด์แล้ว ยังต้องสะท้อนถึงบรรยากาศโดยรอบของชุมชนนั้น ๆ ด้วย พร้อมพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้ระบบงานบริการของร้านดีขึ้น
ทั้งหมดนี้คือการสร้างคุณค่าทางใจ (Emotional Connection) ให้เกิดขึ้นระหว่างแบรนด์ กับผู้บริโภค เพราะการตลาดในยุคนี้ไม่ใช่มองเพียงแค่ 4P (Price Product Place และ Promotion) เท่านั้น แต่จะต้องบวกเพิ่มอีก 3P นั่นคือ People การบริหารจัดการเกี่ยวกับคนและพนักงาน Process กระบวนการให้บริการ และ Physical Evidence สิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ลูกค้าต้องพบเจอ
ขอให้ปีนี้เป็นปีที่ดีสำหรับผู้ประกอบทุกท่าน สวัสดีปีใหม่ครับ