สอวช.ยกเคส 'สวรส'ปฏิรูประบบสุขภาพด้วย‘วิจัยเชิงระบบ’
สององค์กรวิจัยยกร่างรายงานสมุดปกขาว ชู 8 ประเด็นการวิจัยเชิงระบบ หวังสร้างการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างการพัฒนาประเทศ เผย “สวรส.”องค์กรต้นแบบเปลี่ยนทิศทางนโยบายสุขภาพด้วยข้อมูลจากการวิจัยเชิงระบบ
นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า สอวช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดทำรายงานสมุดปกขาว “การวิจัยเชิงระบบเพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง” (System Research for Transformative Changes) โดยการศึกษาและหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในเบื้องต้นสามารถกำหนดประเด็นวิจัยฯ ได้ 8 เรื่องหลัก
ประกอบด้วย 1.ระบบการอุดมศึกษา อาทิ การตรวจสอบระบบเรียนรู้ในไทยที่ควรจะขับเคลื่อน โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การมองลึกถึงนักเรียนในห้องเรียนเดียวกันที่มีทักษะต่างกัน ตลอดจนวิเคราะห์ความต้องการกำลังคนทั้งระดับภาพรวม รายสาขาและระดับพื้นที่ เป็นต้น 2.ระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 3.ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
4.เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดล BCG โดยใช้ข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์และการไหลเวียนของวัสดุของเสียต่างๆ (life cycle inventory) มาออกแบบระบบให้สามารถทรานส์ฟอร์มสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน 5.เกษตรกรรมครอบคลุม 5 พืชเศรษฐกิจหลัก และ 2 ผลิตภัณฑ์จากการประมง จะมีการประเมินว่าควรอยู่ในวัฏจักรเดิมหรือไม่
6.พลังงาน 7.เศรษฐกิจฐานราก และ 8.Multistage Life วิถีชีวิตที่เคยเป็นมาซึ่งเริ่มจากเรียน ทำงานและเกษียณ แต่วันนี้ลำดับขั้นตอนเหล่านั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป เมื่อวัยเกษียณสามารถกลับมาเรียนรู้และทำงานต่อได้ดั่งเช่นในต่างประเทศ
“รายงานสมุดปกขาวนี้จะแสดงให้เห็นภาพปลายทาง (Vision) พร้อมด้วยวิธีการที่จะไปสู่ปลายทาง โดยกำหนดให้แล้วเสร็จประมาณ มิ.ย.นี้”
นายกิติพงศ์ กล่าวอีกว่า หน่วยงานที่เป็นตัวอย่างการทำวิจัยเชิงระบบฯ คือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทิศทางนโยบายด้านระบบสาธารณสุขที่เห็นภาพได้ชัดเจน เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลของการวิจัยเชิงระบบยังนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรต่างๆ เพื่อดำเนินงานในภารกิจเฉพาะที่สำคัญ
ทั้งนี้ การวิจัยเชิงระบบฯ เป็นแนวทางใหม่ที่จะทำให้เห็นภาพองค์รวมของทั้งระบบ พร้อมทั้งศึกษาพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้ามาช่วยวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและของประเทศที่เกิดขึ้นและอาจกำลังจะเกิดขึ้น
หลักการชี้นำของการวิจัยเชิงระบบฯ ประกอบด้วย 1.พิจารณาบริบทของโลกที่ส่งผลกระทบเชิงระบบต่อประเทศ 2.มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ รองรับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต และ 3.การปรับระบบนิเวศ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่
การวิจัยเชิงระบบจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะจะได้เห็นภาพใหญ่ของประเทศว่า ตอนนี้เราอยู่จุดไหน ต้องเดินต่อไปอย่างไรในทิศทางการขับเคลื่อนประเทศ และสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างตอบโจทย์และชัดเจน โดยกระบวนการเริ่มตั้งแต่ 1.การกำหนดประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ 2.วิเคราะห์ระบบและผู้เกี่ยวข้อง 3.ออกแบบระบบและกลไกเพื่อทดลองเชิงนโยบาย (Sandbox) 4.การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 5.สร้างกลไกให้เกิดความยั่งยืน และ 6.การปรับกฎระเบียบรองรับระบบใหม่ โดยการวิจัยเชิงระบบฯ จะเน้นที่ 3 กระบวนการแรก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก