‘เนทติเซนท์’ ชูอีอาร์พีปฏิวัติธุรกิจดิจิทัล
มุ่งโฟกัสอีคอมเมิร์ซ คลาวด์ เจาะลูกค้าใหม่องค์กรขนาดกลาง
“เนทติเซนท์” คาดปี 2563 ดิจิทัลหนุนเทรนด์ใหม่ระบบอีอาร์พี แนะองค์กรเร่งปรับตัว อัพเกรดซอฟต์แวร์ วางนโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลงเพิ่มทางรอด ปักธงลุยตลาดอีคอมเมิร์ซ คลาวด์ หวังสยายปีกฐานลูกค้าใหม่กลุ่มองค์กรระดับกลาง
นายกฤษดา สาธุกิจชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท เนทติเซนท์ จำกัด ที่ปรึกษาการวางระบบซอฟต์แวร์การบริหารจัดการทางธุรกิจ(อีอาร์พี) กล่าวว่า ปี 2563 จะเป็นปีที่เทคโนโลยีเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ภาคธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะการมาของมิติใหม่ของการใช้งานระบบอีอาร์พี
โดยเทรนด์ที่น่าจับตามองประกอบด้วย ความสามารถที่จะเพิ่มขึ้นในรูปแบบ อนาไลติกส์อีอาร์พี คลาวด์อีอาร์พี โอเพ่นแพลตฟอร์มอีอาร์พี ระบบที่คุ้มค่าต่อการลงทุน สามารถเข้าถึงได้ง่าย (Reachable ERP) และโดยเฉพาะโซเชียลอีอาร์พี รองรับการเชื่อมต่อในหลากหลายโซลูชั่น เช่น โซเชียลแบงกิ้ง โซเชียลเวิร์คโฟลว์ โซเชียลซีอาร์เอ็ม และโซเชียลเซล ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ผมคาดว่าภาพรวมตลาดอีอาร์พีประเทศไทยมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องไปกับการเติบโตของการพัฒนาดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ เนื่องจากวันนี้องค์กรธรกิจแทบทุกรายต่างหันมาทบทวน พัฒนาระบบงานไอทีหลังบ้านของตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น"
สำหรับเนทติเซนท์ปีนี้ นอกจากฐานธุรกิจเดิมมุ่งโฟกัสตลาดอีคอมเมิร์ซ รวมถึงตลาดเนทติเซนท์คลาวด์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจากเดิมที่ฐานลูกค้ามีแต่กลุ่มเอ็นเตอร์ไพรซ์ ปีนี้เริ่มเข้าไปเจาะตลาดองค์กรระดับกลาง รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ทั้งมีเป้าหมายที่จะเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอีอาร์พีออกมาต่อเนื่อง
ล่าสุด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพาร์ทเนอร์ระดับสูงสุดของเอสเอพี “SAP Platinum Partner“ จากเดิมที่มีสถานะเป็นโกลด์พาร์ทเนอร์ เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตอย่างมาก มากกว่านั้นได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิก “United VARs” พันธมิตรของเอสเอพีซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรผู้ให้บริการโซลูชั่นของเอสเอพีจากทั่วโลก นับเป็นองค์กรเดียวในไทยที่เป็นสมาชิกภายใต้เครือข่ายนี้
เขากล่าวว่า หากธุรกิจไม่มีแผนการตั้งรับที่ดีอาจทำให้พลาดโอกาสในการแข่งขัน ทั้งเป็นไปได้ที่ความสามารถในการแข่งขันจะถดถอยลง ดังนั้นขอแนะว่า องค์กรควรวางแผนอัพเกรดซอฟต์แวร์บริหารจัดการทั้งระบบหน้าและหลังบ้านให้เป็นระบบที่ทันสมัย มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีการอบรมให้ความรู้บุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจเท่าทันเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การปรับใช้และการให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ องค์กรต้องมีนโยบายที่เอื้อและสนับสนุนต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ เนื่องจากบ่อยครั้งพบว่าองค์กรไม่สามารถเดินตามแผนได้เพราะนโยบายหลักไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง เช่นด้านงบประมาณที่จำกัด
ขณะเดียวกัน รู้จักนำเทคโนโลยีไปสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับตลาดและผู้บริโภค เพื่อเป็นการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การนำเสนอรถยนต์ไร้คนขับ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ การนำเสนอสมาร์ทโฮมในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ การนำเสนอภูมิศาสตร์อัจฉริยะ ในอุตสหกรรมโลจิสติกส์
พร้อมกันนี้ มีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้องค์กรเดินไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นและตรงเป้าหมายมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าองค์กรขนาดใหญ่หลายองค์กรแม้จะมีนโยบายการเปลี่ยนแปลงที่ดีแต่ไม่สามารถเดินไปถึงเป้าหมายได้เพราะขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ ทำให้สูญเสียงบประมาณและเวลาซึ่งเป็นต้นทุนมหาศาลของธุรกิจในการก้าวให้ทันเทคโนโลยี