กสทฯ อัพเกรดพัฒนาธุรกิจรับ '5จี'

กสทฯ อัพเกรดพัฒนาธุรกิจรับ '5จี'

จับมือ กฟภ.มุ่งสู่โครงสร้างพื้นฐานลดลงทุนซ้ำซ้อน

157960800336

พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นนิมิตหมายอันดีของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง ที่จะนำศักยภาพที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของชาติในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านโทรคมนาคม โดยปัจจุบันกสทฯมีเสาโทรคมนาคมราว 20,000 ต้นที่พร้อมสำหรับให้ผู้ประกอบการได้ใช้งาน ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนและยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนในการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาบริการด้วยเทคโนโลยี 5จีได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาพรวมในด้านต่าง ๆ ของประเทศและการให้บริการแก่ประชาชนในที่สุด

สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การประมูล 5จีนั้น ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดการประมูล 5จีในวันที่ 16 ก.พ.นี้ จำนวน 4 ย่านความถี่ ซึ่งการประมูลครั้งนี้มีความน่าสนใจกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นครั้งแรกที่ 2 รัฐวิสาหกิจคือบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และกสทฯจะร่วมเข้าประมูล 5จี และทั้ง 2 องค์กรก็มารับเอกสารการประมูลไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้ควบรวมกิจการทีโอที กับกสทฯ เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% พร้อมมอบหมายให้กระทรวงฯ ดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนด

โดยจุดแข็งของการควบรวมนี้ จะช่วยให้เกิดการผสานศักยภาพสร้างความพร้อมให้กับรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารของประเทศไทย เพื่อรับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการสิ้นสุดสัมปทานถือครองคลื่นความถี่ในปี 2568 ซึ่งทั้งสองหน่วยงาน จะไม่เหลือคลื่นความถี่ในมือเลย อีกทั้ง เป็นการสร้างโอกาสของการไปสู่ธุรกิจในอนาคตร่วมกัน ซึ่งรวมถึงธุรกิจ 5จีดังกล่าวนี้ด้วย

ส่วนขั้นตอนหลังจากผ่านมติครม. จะมีการว่าจ้างที่ปรึกษา 3 ด้าน เพื่อให้ทำการศึกษาและจัดทำแผนใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านการควบรวมกิจการ และด้านทรัพยากรบุคคล ทำการศึกษา และกำหนดทิศทางในการดำเนินงานภายหลังการควบรวมกิจการ คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 6 เดือน กระบวนการควบรวมจึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ด้านโครงสร้างหลังการควบรวม บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 5 สายงาน ได้แก่ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ธุรกิจโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์ ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสารไร้สาย และธุรกิจดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ และเซอร์วิส