ถอดรหัส 'แบรนด์ดีเอ็นเอ' วว.ติวเอสเอ็มอี 'รู้เขา รู้เรา'

ถอดรหัส 'แบรนด์ดีเอ็นเอ' วว.ติวเอสเอ็มอี 'รู้เขา รู้เรา'

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ เปิดคอร์สต่อเนื่องปีที่ 5 ติวเข้ม 'เอสเอ็มอี' ค้นหาอัตลักษณ์ที่แท้จริงของแบรนด์ หรือ “แบรนด์ ดีเอ็นเอ” ปูทางต่อยอดสู่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ทั้งกราฟฟิกดีไซน์และประเภทวัสดุ มุ่งครองใจผู้บริโภคตลอดกาล

หลักสูตร "ค้นหา BRAND DNA กำหนดทิศทางของแบรนด์และองค์กรด้วยดีเอ็นเอ" หรือ BRAND DNA 2020 เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการ "ศูนย์นวัตกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อ SMEs" กำหนดจัดในภูมิภาคต่างๆ รวม 4 ครั้ง เป้าหมายเพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการประมาณ 50 คนที่มีความพร้อม เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมเชิงลึกด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การศึกษาดูงานด้านบรรจุภัณฑ์ภายในประเทศ และเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาภาพลักษณ์ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะจัดขึ้น ก.พ. 2563

"บรรจุภัณฑ์" สะท้อนแบรนด์

ฉัตรชัย ระเบียบธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท ยอดคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้สะท้อนแนวความคิดถึงการรู้จักตัวตนของแบรนด์ผ่านการเป็นเมนเทอร์ว่า "การสร้างแบรนด์คือการสร้างวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อให้แบรนด์เป็นที่น่าจดจำ ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่การออกแบบโลโก้ แต่เป็นการสร้างประสบการณ์ (brand experience) ที่เที่ยงตรงกับตัวตนแบรนด์เพื่อให้ถูกใจกลุ่มเป้าหมาย โดยจะต้องเริ่มจากการหาอัตลักษณ์ที่แท้จริงของแบรนด์ หรือที่เรียกว่า "แบรนด์ ดีเอ็นเอ" ให้พบเป็นอันดับแรกผู้ประกอบการจึงจะสามารถต่อยอดสู่กระบวนการในลำดับต่อไปได้"

157978258538

การค้นหา Brand DNA เหมือนจะเป็นสิ่งที่ง่าย แต่กลับเป็นสิ่งที่ยากสำหรับผู้ประกอบการ ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดของการค้นหาตัวตนคือการ "หยุด" การแสวงหาตลาดแล้วหันกลับมาทบทวนตนเองว่า ตลอดระยะเวลาธุรกิจที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น 5 ปี หรือ 10 ปี จุดแข็งที่สำคัญที่สุดที่แตกต่างจากคู่แข่งคืออะไร สตอรี่เมื่อพูดออกไปแล้วผู้บริโภคเข้าใจและยินดีที่จะรับฟังคืออะไร และผู้บริโภคได้รับคุณค่าอะไรที่ทำให้การกลับมาสินค้าอีกครั้งหนึ่ง

ฉัตรชัย อธิบายเสริมว่า การที่จะแข่งขันในตลาด สิ่งหนึ่งที่หลายแบรนด์เลือกใช้ คือการทำธุรกิจแบบแมสหรือขยายสาขาให้มากในพื้นที่ต่างๆ เพื่อครอบคลุมกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด แต่จะแมส อย่างไรให้แตกต่างมีเอกลักษณ์ "Brand DNA" จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดในการสร้างกลยุทธ์ให้กับธุรกิจภายใต้ทฤษฎีที่ว่า "In Side Out" โดยเริ่มจาก 1.การสร้างเรื่องราว (Story) 2.Strange และเมื่อได้คำตอบที่สำเร็จแล้ว จึงจะสามารถเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับความสำเร็จที่จะทำให้ประกอบธุรกิจได้ง่ายขึ้น

"กระบวนการสำคัญของ แบรนด์ ดีเอ็นเอ หากเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง หรือมีประสบการณ์จะต้องมาย่อยจนเหลือดีเอ็นเอ และเมื่อเจอดีเอ็นเอ ก็จะต้องมีการกลับไปรื้อบ้าน โดยบ้านในที่นี้คือรากฐานของธุรกิจที่รวมไปถึงบริบทโดยรวมด้วยเช่นกัน อาทิ บรรจุภัณฑ์ เนื่องจากนวัตกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์นับเป็นความหวังทั้งหมดของเอสเอ็มอี ถือได้ว่าเป็นผู้กุมความหวังทั้งหมดของธุรกิจ เพราะฉะนั้นถ้าเราเจอดีเอ็นเอแล้วกลยุทธ์ต่อไป คือการสะท้อนดีเอ็นเอออกมาให้ได้มากที่สุด ผ่านบรรจุภัณฑ์เหล่านั้น"

เฟ้นผู้สมัครกว่า 700 เหลือ 50 คน

ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า หลักสูตรการค้นหาแบรนด์ ดีเอ็นเอ มีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการตลาดมาแชร์คอนเทนต์มากมาย เช่น 1.หลักสูตรอบรมพื้นฐานในการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีการบูรณาการความรู้ความเข้าใจที่จำเป็นด้านการตลาด 2.เวิร์กช็อปอบรมเชิงลึกในการค้นหาดีเอ็นเอของตนเอง ด้วยการทำความเข้าใจในเรื่องราวผลิตภัณฑ์ ในฐานะที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้ตัวตนที่แท้จริงก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบตราสินค้าหรือแบรนด์ และบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนแนวคิดในการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้มีภาพลักษณ์เป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ในแต่ละปีผู้ประกอบการให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการค้นพบตัวตนทางธุรกิจทำให้มีโอกาสสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ทำให้สินค้ามีความโดดเด่นในตลาด ส่งผลถึงการส่งเสริมการขายได้เป็นอย่างดี

157978263176

พัชทรา มณีสินธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. กล่าวเสริมว่า การต่อยอดสู่การคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเข้ารับการพัฒนาภาพลักษณ์ตราสินค้าและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายการคัดเลือกผู้ประกอบการจำนวนประมาณ 50 คน แบ่งเป็นประเภทอาหาร 25% และไม่ใช่อาหาร 25% เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมเชิงลึกด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ศึกษาดูงานด้านบรรจุภัณฑ์ภายในประเทศ และร่วมพัฒนาภาพลักษณ์ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 17-20 ก.พ.นี้

ปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,500 คน ปีนี้แม้จะประชาสัมพันธ์โครงการไปเพียงไม่กี่เดือน แต่มีผู้ประกอบการให้ความสนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 770 คนทั่วประเทศ ก็จะคัดให้เหลือเพียง 50 คน โดยจะมีเกณฑ์การคัดเลือกผ่านการนำเสนอของผู้ประกอบการว่า ผลิตภัณฑ์มีความพร้อมออกสู่ตลาดมากน้อยแค่ไหนเนื่องจากคุณภาพมาตรฐานและขีดความสามารถเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยในการผลักดันธุรกิจ และจะสามารถผ่านเข้ารอบสู่การอบรมเชิงลึกต่อไป

'กรีน-ไบโอพลาส' ทิศทางการพัฒนา

"ศูนย์ฯ มีจุดเด่นในเรื่องของการบริการทดสอบบรรจุภัณฑ์ผ่านความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คือในแง่บรรจุภัณฑ์หลายคนอาจจะมองถึงเรื่องกราฟิกดีไซน์ แต่จริงๆ แล้วต้องมีองค์ประกอบหลายภาคส่วนทั้งโครงสร้าง กราฟฟิก ฉะนั้น เราจะมีการให้คำปรึกษาในทุกด้าน ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้อง เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษา ลดความเสียหายระหว่างการขนส่ง ทั้งนี้ ก่อนกระทำการใดๆ ทางเราจะศึกษาตลาด ความต้องการของผู้บริโภค กลุ่มเป้าหมาย ฉลาก กฎระเบียบข้อบังคับที่จำเป็นของสินค้า เพื่อนำมาผนวกให้ผู้ประกอบการใช้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์และสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าประเภทนั้นๆ"

ขณะเดียวกันโลกมาถึงยุคที่บรรจุภัณฑ์ถูกโจมตีในเรื่องของขยะบรรจุภัณฑ์ ที่มีส่วนประกอบจากพลาสติก เพราะฉะนั้น วัสดุของเราจึงเน้นความเป็นกรีนมากขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งและสานต่อเจตนารมณ์ของนโยบายบีซีจี พร้อมทั้งจะต้องมีกลวิธีที่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลบริหารจัดการได้ง่าย อาทิ พลาสติกย่อยสลายได้ นับเป็นการยกระดับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ของประเทศอีกทางหนึ่ง

157978266192