สอวช.เปิดโมเดลจัดทัพเร่งขับเคลื่อน 'บีซีจี'

สอวช.เปิดโมเดลจัดทัพเร่งขับเคลื่อน 'บีซีจี'

เปิดแนวคิด "BCG" โมเดลเศรษฐกิจใหม่พัฒนาสู่โครงการและแผนงานสำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ภายใต้รวมกว่า 2 พันล้านบาท ยกระดับแพลตฟอร์มการพัฒนาระดับประเทศเสมือน "อีอีซี" ตอบโจทย์กับดักรายได้ปานกลาง มุ่งขับเคลื่อนด้านคน ปลดล็อคข้อจำกัดอย่างเป็นรูปธรรม

จัดทัพเร่งขับเคลื่อน

กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า บีซีจี (Bio-Circular-Economy) จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมของไทยแลนด์ 4.0 และการสร้างโมเดลใหม่ (Re-invent) ประเทศ ซึ่งต้องมีการเรียนรู้ที่ต้องก่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงแล้วจึงนำไปสู่นวัตกรรม ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนบีซีจีโมเดล เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งจะนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

การผลักดันการพัฒนาภายใต้บีซีจีโมเดล ต้องผนึกกําลังการทํางานในรูปแบบของ “จตุรภาคี” (Quadruple Helix) ซึ่งเป็นการทํางานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชน สังคม มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และเครือข่ายต่างประเทศ เพื่อเลือกรับพัฒนาต่อยอด และปรับใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทของไทย ซึ่งมีองค์ประกอบสําคัญ 2 ส่วน คือ 4 การขับเคลื่อน X 4 การส่งเสริม (4 Drivers X 4 Enablers)โดยจะมีคณะกรรมการกำกับในแต่ละแผนก

158040067355

สำหรับ 4 ตัวขับเคลื่อนได้แก่ 1.การพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ 2.การเตรียมกำลังคนเชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการ อาทิ สตาร์ทอัพ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ 3.การพัฒนาเชิงพื้นที่ อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) 4.การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า อาทิ การใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) และชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology)

และในส่วนของ 4 ตัวส่งเสริม ได้แก่ 1.ปลดล็อคข้อจำกัด เช่น สนามทดสอบสำหรับแนวคิดทางธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) พ.ร.บ.ความหลากหลายทางชีวภาพ 2.โครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพ(Biobank) โรงงานสาธิต 3.การสร้างความสามารถของกำลังคน ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางอาชีพบีซีจี ชุดทักษะบีซีจี หรือแม้กระทั่งหลักสูตร Non-degree Programs 4.เครือข่ายต่างประเทศ เช่น สถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลก บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลชั้นนำของโลก

ทางด่วนแห่งชัยชนะ

กิติพงค์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในส่วนของปัญหาและความท้าทายคือ 1.การตั้งเป้าหมาย (Objective and Key Results :OKRs) ของบีซีจี จะต้องตอบโจทย์ในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 2.พลังที่แท้จริงของการขับเคลื่อนบีซีจี ไม่ใช่รัฐบาล การขับเคลื่อนจึงไม่ใช่กระทรวงต่างๆ แต่เป็นพลังของมหาวิทยาลัย เอกชน ชุมชน และเครือข่ายต่างประเทศ 

3.รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนร่วมกับเอกชน และสร้างศักยภาพและสภาพแวดล้อมให้เอกชนลงทุนเพิ่มมากขึ้น 4. โจทย์วิจัยของมหาวิทยาลัยจะต้อง เป็นโจทย์จากชุมชนและอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ 5.ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์การใช้งบประมาณจากฐานรายจ่ายเป็นฐานการลงทุน เช่น เปลี่ยนจากการอุดหนุนราคาเป็นการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ 6.การขยายขอบเขตทุนของรัฐ และ 7.การจัดทำศูนย์ข้อมูลมาตรการสนับสนุนต่างๆของรัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มใหม่ๆ

158040079387

158040069670

ในปีนี้จะเห็นความคืบหน้าของโครงการที่สามารถขยายผลได้ทันทีในเทคโนโลยีบางตัวที่มีความพร้อม
อาทิ โครงการเลี้ยงปลานิลที่มีประสิทธิภาพสูง เพิ่มจำนวนจาก 600 กิโลกรัม เป็น 1 หมื่นกิโลกรัม ที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชนได้เลย และโครงการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้ ที่ผ่านการฉายรังสีเพื่อคุณภาพที่สมบูรณ์แบบ อีกทั้งโครงการไบโอโลจิกส์ (biologics) ที่ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยจะเห็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกิดจากนักวิจัยไทยที่ผ่านการทดสอบเรียบร้อยแล้วเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น 

พร้อมทั้งได้มีการทำ Technology Readiness Levels ระดับความพร้อมของเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรมทั้ง 9 ระดับ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนา (R&D Tools) ที่มีการจัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลกตามหลักเกณฑ์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ นาซา พร้อมทั้งจะมีการนำไปตรวจสอบระดับเพื่อให้ทุนได้เหมาะกับโครงการมากยิ่งขึ้น และสามารถวิเคราะห์ได้ว่าโครงการไหนพร้อมที่จะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์