อว.หารืออียูขับเคลื่อน ‘บีซีจี’ โมเดล
เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป เป็นเจ้าภาพหารือโต๊ะกลมร่วมกับ รมว.อว.ของไทย และผู้บริหาร สวทช. มุ่งสร้างและขยายความร่วมมือใน 'บีซีจี' เศรษฐกิจแนวใหม่ เผยอียูลงทุน 33 พันล้านบาทวิจัยพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายเปียร์ก้า ตาปีโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และคณะผู้แทนทางการค้าจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เป็นเจ้าภาพจัดการหารือโต๊ะกลมเพื่อเปิดโอกาสในการสร้างและขยายความร่วมมือร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในเรื่อง บีซีจีโมเดล:การพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
สำหรับประเทศไทย นำโดยผู้แทนฝ่ายไทยคือ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมด้วย นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้บริหาร สวทช.
นายสุวิทย์ เปิดเผยว่า บีซีจีโมเดลเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง นำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน
เศรษฐกิจแนวใหม่นี้มุ่งพัฒนาตอบโจทย์ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งในภาคการเกษตรและอาหาร ด้านพลังงานและวัสดุ ด้านสุขภาพและการแพทย์ และด้านการท่องเที่ยว จะสามารถนำพาประเทศไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตอาหารคุณภาพ 1 ใน 5 ของโลก เพิ่มจีดีพีเป็น 4.3 ล้านล้านบาท ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างงาน รวมถึงสร้างรายได้ให้กับทุกภูมิภาคของประเทศ โดยกระบวนการขับเคลื่อนจะมุ่งเน้นการบริหารจัดการและนโยบายนวัตกรรม ผ่านความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน (PPP) ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือของหลายกระทรวง
“การหารือโต๊ะกลมในครั้งนี้ เป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น วิสัยทัศน์และแผนงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับบีซีจีโมเดล รวมทั้งการหารือที่จะสร้างความร่วมมือแบบได้รับประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายบีซีจีโมเดลให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น” นายสุวิทย์ กล่าว
นายเปียร์ก้า กล่าวว่า สหภาพยุโรปกำลังลงทุนในข้อตกลงยุโรปสีเขียว หรือ European Green Deal ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนที่จะเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป การลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มคุณภาพชีวิต
ทางสหภาพยุโรปต้องการร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้หลักการข้อตกลงยุโรปสีเขียวได้รับการส่งเสริมในระดับนานาชาติ โดยได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้กับวงจรการผลิต การบริโภค การจัดการขยะและของเสีย รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่
ทั้งนี้ สองปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ลงทุนไปเกือบ 1.1 พันล้านยูโร (33 พันล้านบาท) ในการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อเป็นการริเริ่ม ส่งเสริมและสนับสนุนกลยุทธ์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน