ประมูล '5G' แข่งเดือด คาดเงินเข้ารัฐทะลุ 70,000 ล้านบาท
โอเปอเรเตอร์ 5 รายมาตามนัดยื่นซองประมูลคลื่น 5G กสทช. ระบุอาจขายไลเซ่นส์เกิน 30 ใบจากที่ประเมินไว้เดิมที่ 25 ใบ รายได้เข้ารัฐทะลุ 70,000 ล้านบาท เร่งขั้นตอนตรวจสอบคุณสมบัติก่อนประกาศจริง 12 ก.พ.นี้ ก่อนลุ้นเคาะราคาวันประมูล 16 ก.พ.
ถกรองนายกฯขับเคลื่อน 5G
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า ภายหลังที่ 5 บริษัทได้ยื่นเอกสารการประมูล 5จีครบแล้ว ในเวลา 16.30 น. จะเข้าสู่ช่วงเวลาไซเรน พีเรียดทันที ห้ามให้รายใดให้ข่าวหรือออกข่าวที่เกี่ยวข้องกับการประมูล และวันนี้ (5 ก.พ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาประชุมและให้นโยบายพร้อมกับขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เรื่อง 5จีที่สำนักงานกสทช. จากนั้นขั้นตอนของสำนักงานกสทช.จะตรวจสอบเอกสารพร้อมนำชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติการประมูลให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ในวันที่ 12 ก.พ.เพื่อลงมติ และจะประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติทันทีในวันเดียวกัน และสาธิตวิธีการประมูลในวันที่ 14 ก.พ. และเปิดประมูลจริงในวันที่ 16 ก.พ.นี้
ทั้งนี้ กสทช.จะเปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ใน 4 ย่าน ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ โดยเป็นการประมูลครั้งละคลื่นความถี่ เริ่มตั้งแต่คลื่น 700 เป็นคลื่นแรก โดยประมูลด้วยรูปแบบการประมูลคล็อคอ๊อกชั่น รวม 56 ใบอนุญาต มูลค่า 160,577 ล้านบาท
แบ่งเป็น คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 15 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท รวม 26,376 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 35 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้าน รวม 87,402 ล้านบาท, คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ชุด ชุดละ 10 เมกะเฮิรตซ์ รวม 190 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 27 ชุด ชุดละ 100 เมกะเฮิรตซ์ รวม 2700 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท รวม 11,421 ล้านบาท
คาดทำเงินเข้ารัฐทะลุ 7 หมื่นล้าน
นายฐากร คาดว่า เดิมเคยประมูลไว้ว่าการประมูล 5G ในครั้งนี้ จะทำเงินเข้ารัฐได้จำนวน 54,654 ล้านบาท จากการประมูล 25 ใบอนุญาต แต่จากการมายื่นซองประมูลในครั้งนี้พบว่า มีความต้องการคลื่นความถี่สูงโดยเฉพาะคลืิ่นในย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเปิดปประมูล 19 ใบอนุญาตและน่าจะประมูลออกได้ทั้งหมด และมีแนวโน้มอาจจะประมูลไม่จบในวันเดียว ทำให้คาดการณ์ใหม่ว่า การประมูลครั้งนี้ จะนำเงินเข้ารัฐได้มากว่า 70,000 ล้านบาท ประมูลได้ทั้งสิ้น 32 ใบอนุญาต
เนื่องจากคาดว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะประมูลได้ครบทั้ง 3 ชุด คิดเป็นเงิน 26,376 ล้านบาท ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จะประมูลได้ทั้งหมด 19 ชุด คิดเป็นเงิน 35,378 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จะประมูลได้จำนวน 10 ชุด คิดเป็นเงิน 4,230 ล้านบาท ส่วนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ น่าจะไม่เป็นที่น่าสนใจเท่าไรในครั้งนี้ จึงอาจจะไม่มีการประมูล เพราะราคาที่ตั้งไว้อยู่ในเกณฑ์ที่สูง
"ยังไม่รู้ว่ารายใดยื่นซองคลื่นไหนมาบ้างแต่ถ้าให้วิเคราะห์คือ คลื่น 700 อาจมีรายเดียวที่เอาทั้ง 3 ชุดหรือ 15 เมกะเฮิรตซ์ เลย หรือมีเข้ามา 2 รายได้ไปคนละ 2 ชุด ชุดแรก 10 เมกะเฮิรตซ์ อีกชุด 5 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนคลื่น 2600 นั้น ซึ่งเหมาะกับทำ 5จีมากที่สุด และอย่างน้อยรายหนึ่งต้องมีคลื่น 60 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นไป อาจมีการประมูลดุเดือด ซึ่งสมการแรกคือ รายที่ 1 ได้ไป 100 เมกะเฮิรตซ์ และรายที่ 2 ได้ไป 90 เมกะเฮิรตซ์ และสมการที่ 2 คือ รายที่ 1 ได้ไป 70 เมกะเฮิรตซ์ และรายที่ 2 กับ 3 ได้ไปคนละ 60 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ที่มีราคาขั้นต้นต่ำที่สุดน่าจะขายได้ 10 ใบอนุญาต ซึ่งคงเข้ามาประมูลกันทุกรายอยู่ที่ว่าจะเอาเก็บไว้มากน้อยเท่าไร"
เปิดช่องตั้งเสาใหม่ไม่ต้องเฮียริ่ง
นายฐากร กล่าวว่า เพื่อต้องการให้ไทยเปิดบริการ 5G ให้เร็วที่สุด เบื้องต้นน่าจะเปิดได้ต้นเดือนก.ค.นี้ แม้เงื่อนไขจะบอกให้มารับใบอนุญาตภายใน 90 วัน แต่เอกชนก็ต้องการได้ใบอนุญาตทันที ซึ่งสำนักงานกสทช.จะพยายามให้จบภายในก.พ.นี้ และให้ใบอนุญาตมี.ค.นี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าปีนี้จะมีการลงทุนโครงข่ายเพื่อให้บริการ 5จีของทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 133,000 ล้านบาท ปี 2564 จะมีการลงทุน 200,000 ล้านบาท
ดังนั้น สำนักงานกสทช.จะเร่งให้เอกชนสามารถติดตั้ง 5G บนเสาเดิมที่มีอยู่ทั้งระบบ 130,000 สถานีฐานได้ทันที ไม่ต้องผ่านเวทีประชาพิจารณ์ (เฮียริ่ง) เพื่อลดขั้นตอนเพื่อให้เปิดบริการได้รวดเร็วมากขึ้น ขณะที่ การขับเคลื่อน 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในปี 2563 มูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี)
โอเปอเรเตอร์พร้อมประมูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (5 ก.พ.) ยังเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของ นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ที่มาพร้อมด้วยทีมผู้บริหารดีแทคเข้ายื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลที่สำนักงาน กสทช. ด้วยตัวเอง ขณะที่ ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นใดๆ เพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการประมูล เพราะอยู่ในช่วง silent period บอกเพียงสั้นๆ ว่า "สัญญาจะไม่หยุด ยึดมั่นลูกค้าเป็นหลัก จะทำทุกสิ่งเหมือนเดิม และจะให้บริการต่อเนื่อง และจะทำให้ดีแทคแข็งแกร่ง"
นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการ บมจ.ทีโอที รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า การเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ เป็นไปตามคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที เห็นชอบ ตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลฯ ในการร่วมผลักดันนโยบายของประเทศให้ทันกับการให้บริการและการผลิตสมัยใหม่ ยกระดับโครงการพื้นฐานของประเทศ กระจายความเจริญสู่ประเทศไทย
นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) กลุ่มทรูฯ กล่าวว่า บริษัทได้วิเคราะห์และประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมทั้งได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอกเข้ามาศึกษาความเหมาะสม และความคุ้มค่าในการลงทุนในแต่ละย่านคลื่นความถี่ โดยคำนึงการตอบสนองความต้องการใช้งานของลูกค้า