‘ชีวินทรีย์’ กำจัดศัตรู ทางเลือกเกษตรปลอดภัย
'ริมปิงออร์แกนิคฟาร์ม' จ.เชียงใหม่ พึ่งพาเทคโนโลยี NPV ไวรัสควบคุมแมลงศัตรูพืช ผลงานวิจัยจาก สวทช. ลดใช้สารเคมี สร้างความปลอดภัยให้เกษตรกรและผู้บริโภค ตอบความต้องการของผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่เติบโตขึ้น ขณะที่ผลผลิตส่งขึ้นห้างหรูในกรุงเทพฯ
ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ขยายผลการนำผลงานวิจัย “ไวรัสเอ็นพีวี” (NPV) เป็นสารชีวภัณฑ์ ซึ่งผลิตหรือพัฒนามาจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ ทำหน้าที่กำจัดแมลงศัตรูพืช สร้างทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ทดแทนสารเคมี ตอบโจทย์ความต้องการของฟาร์มออร์แกนิคและเตรียมรับมือการแบน 3 สาร (พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส) ในเร็วๆ นี้
ลดสูญเสียผลผลิตสูงถึง 15%
ริมปิงออร์แกนิคฟาร์ม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เริ่มผลิตผักอินทรีย์ในกลุ่มสลัดมาตั้งแต่ปี 2555 เช่น สลัดคอส บัตเตอร์เฮด กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค และรวมไปถึงผักไทยอย่างผักโขม ผักบุ้ง ผักกาดขาว ข้าวโพดหวาน มะเขือเทศและแตงกวา โดยเริ่มทำการทดลองผลิตจากพื้นที่เล็กๆ ก่อนที่จะขยายถึงกว่า 100 ไร่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งจัดจำหน่ายทั้งในเชียงใหม่และต่างจังหวัด
เอกราช เครื่องพนัด ผู้จัดการทั่วไป กล่าวว่า ในการผลิตพืชอินทรีย์มีข้อจำกัดสูงด้านปัจจัยการผลิต เช่น ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีต่างๆ ขณะที่การปลูกพืชย่อมมีแมลงศัตรูเข้ามารบกวนเป็นระยะๆ โดยเฉพาะ หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะสมอฝ้ายและหนอนกระทู้หอม ก็ได้ปรับปรุงการผลิตให้ได้ผลผลิตที่เป็นผักผลไม้อินทรีย์คุณภาพสูง แต่เมื่อตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้นจึงต้องหาเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาเป็นตัวช่วย ซึ่งก็คือไวรัสเอ็นพีวีจากไบโอเทค
ริมปิงฯ ใช้ไวรัสเอ็นพีวีมาเป็นเวลากว่า 5 ปี ประกอบกับได้รับการช่วยเหลือด้านข้อมูลจากไบโอเทค อาทิ อัตราการใช้งาน แนะนำช่วงเวลาใช้งาน ความถี่ในการฉีดพ่นในฤดูกาลต่างๆ เพื่อให้ไวรัสเอ็นพีวีทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ โดยสามารถป้องกันหนอนศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ลดการสูญเสียผลผลิตที่ถูกหนอนเข้าทำลายได้ 10-15%
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้ง Organic Thailand ของกรมวิชาการเกษตร IFOAM และได้มาตรฐานการคัดบรรจุโดยได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี โคเด็กซ์ ผู้บริโภคจึงสามารถมั่นใจว่าได้รับผลผลิตที่ดีและปลอดภัยต่อการบริโภค
อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค กล่าวว่า ไบโอเทคได้ค้นคว้าวิจัยด้านสารชีวภัณฑ์ (Biocontrol) เป็นเวลากว่า 10 ปี มุ่งใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ เช่น ราบิวเวอเรีย โปรตีนวิป (VIP) จากแบคทีเรีย และไวรัสเอ็นพีวี ที่สามารถควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืชหลายชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิจัยและคัดเชื้อไวรัสที่ดีที่สุดมาทดสอบ ปัจจุบันทีมนักวิจัยพยายามบูรณาการความเชี่ยวชาญของหลายสาขา เพื่อเพิ่มศักยภาพของการนำสารชีวภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และที่สำคัญเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือการอุบัติใหม่ของแมลงศัตรูพืช ที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไป
‘เอ็นวีพี’ปลอดภัยไม่ดื้อยา
สัมฤทธิ์ เกียววงษ์ นักวิชาการอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีไวรัสเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช ไบโอเทค กล่าวว่า นักวิจัยค้นหาไวรัสเหล่านี้จากการสำรวจหนอนในธรรมชาติ หากพบตัวที่ป่วยก็จะนำมาศึกษาหาสาเหตุว่าเป็นเพราะไวรัสหรือไม่ จนได้ผลสำเร็จเป็นไวรัสเอ็นพีวี ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติและทำให้แมลงเกิดโรค เหมาะนำมาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช
ปัจจุบันมีบริษัท 2 แห่งที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และมีอีก 1 บริษัทที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรในลำดับขั้นตอนตรวจสอบสถานที่ผลิต ซึ่งเป็นเหมือนการทดลองตลาดก่อนที่จะจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ในลำดับต่อไป และหากมีเกษตรกรที่สนใจก็สามารถติดต่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้
สำหรับก้าวต่อไปของการพัฒนาสารชีวภัณฑ์นั้น จากที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับไวรัสเอ็นพีวีค่อนข้างน้อย ส่งผลให้การนำไวรัสไปใช้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัด จึงเริ่มมีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีด้านจีโนม เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสเอ็นพีวีให้ได้ข้อมูลว่า ยีนส่วนใดที่มีบทบาทสำคัญต่อการเข้าทำลายแมลง
"องค์ความรู้นี้จะสามารถทำให้นักวิจัยเลือกสายพันธุ์ไวรัสตัวใหม่ๆ มาพัฒนาเป็นไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงได้ โดยเฉพาะกรณีแมลงศัตรูพืชที่อุบัติใหม่ในประเทศ และยังไม่มีไวรัสเอ็นพีวีที่สามารถใช้ควบคุม ดังนั้น การใช้องค์ความรู้ดังกล่าวจะสามารถหาไวรัสเอ็นพีวีที่มีประสิทธิภาพสูงได้ ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีลองผิดลองถูกเพื่อหาสายพันธุ์เหมือนในอดีต” อนันต์ กล่าวทิ้งท้าย