ทปอ.เปิดรายงานการศึกษา Innovation Hubs

ทปอ.เปิดรายงานการศึกษา Innovation Hubs

ทปอ.เปิดรายงานการดำเนินงานของ 5 กลุ่มเรื่องในโครงการ Innovation Hubs งบประมาณกลางปี 2560 จำนวน 1,423 ล้านบาท เผย “กุงคุณลุง” แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในแม่ฮ่องสอน และไอศกรีมถั่วลาย เมนูซิกเนอเจอร์ที่นักท่องเที่ยวห้ามพลาด ล้วนเกิดจาก Innovation Hub

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นำเสนอบทสรุปรายงานการประเมินโครงการศูนย์นวัตกรรม Innovation Hubs  5 กลุ่มเรื่องใน ประกอบด้วย เกษตรและอาหาร พลังงานชีวภาพ สังคมสูงอายุ เมืองอัจฉริยะ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดำเนินการโดย 33 มหาวิทยาลัยเครือข่าย ทปอ. ขณะเดียวกันก็ยังขยายความร่วมมือไปยังกลุ่ม "ราชภัฏ" และ "เทคโนโลยีราชมงคล" ในท้องถิ่นด้วย


1. ศูนย์กลางนวัตกรรมเกษตรและอาหาร (Agiculture&Food Innovation Hubs) โดย รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี 

วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรและเอกชนท้องถิ่น ซึ่งขาดอุปกรณ์เครื่องมือระดับสูงในการแปรรูปและผลิต ให้เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรและอาหาร รวมถึงการกระจายความช่วยเหลือไปยังเกษตรกรและชุมชนทั่วภูมิภาคของประเทศไทยในการยกระดับมาตรฐานผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร และช่วยพัฒนาธุรกิจเกิดใหม่ (start-up) การดำเนินงาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การพัฒนาโรงงานต้นแบบการแปรรูปอาหาร และการพัฒนาธุรกิจโดยใช้ฐานเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ทปอ.  

158212574918


1.โครงการได้พัฒนาโรงงานต้นแบบการแปรรูปอาหารทั่วประเทศ 5 แห่ง ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยติดตั้งเครื่องจักรเพื่อการบรรจุและแปรรูปอาหาร รวม 64 เครื่อง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการในการขยายผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โรงงานต้นแบบเหล่านี้ปัจจุบันได้เริ่มเปิดดำเนินการและให้บริการแก่เอกชนในภูมิภาคต่าง ๆ แล้ว เป็นที่นิยมของผู้ประกอบการในภูมิภาคอย่างกว้างขวาง มีเอกชนตัดสินใจสร้างโรงงานและพัฒนาปรับปรุงการผลิต 34 แห่ง


2.การพัฒนาธุรกิจโดยใช้ฐานเทคโนโลยี มีจำนวนทั้งสิ้น 298 โครงการ ใช้งบประมาณ 143.58 ล้านบาท เป็นโครงการที่เพิ่มมูลค่าสินค้า 78% เพิ่มคุณภาพสินค้า 62% ลดต้นทุนการผลิต 9% โครงการเน้นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เวชสำอาง และโภชนาการ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยี อาทิเช่น การสร้างเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพนม การสร้างเครื่องควบคุมอุณหภูมิโรงเพาะเห็ดเพื่อควบคุมคุณภาพเห็ด และการผลิตซอฟท์แวร์เพื่อการควบคุมการผลิตผักไฮโดรโปนิกส์


จากการประเมินพบว่า โครงการมีส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 55% เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนหรือคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น การเกิดการสร้างงานในชุมชนหรือคนในพื้นที่ เกิดทางเลือกหรือช่องทางในการสร้างรายได้ให้มั่นคง การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอาหาร และเกิดผลประโยชน์ต่อเนื่อง นั่นคือ ความต้องการสินค้าเกษตรเพื่อการแปรรูปที่เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มของการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคการเกษตรอีกด้วย

ตัวอย่างของโครงการที่เกิดผลกระทบในหลายมิติ ได้แก่ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ถั่วลายเสือ ของ บริษัทกุ๊บไตและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น เพิ่มความเข้มแข็งให้ตัวธุรกิจเอง และเอื้อต่อเกษตรกรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดผลกระทบอื่นที่ตามมาคือ พัฒนาชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรและการแปรรูปผลิตผลการเกษตร สร้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ประชาชนทั่วไปสามารถแวะชมผลงานได้ที่ “กุงคุณลุง” จังหวัดแม่ฮ่องสอน

158212620619


กล่าวโดยสรุป ผลผลิตของโครงการ Innovation Hubs กลุ่มเกษตรและอาหาร ก่อให้เกิดผลประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะทั้งทางตรงและทางอ้อม นั่นคือ นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มผู้ประกอบการหรือผู้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว ผู้ประกอบการ บุคคล หรือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องก็ได้รับผลประโยชน์ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผลประโยชน์จึงเกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรและอาหาร 


2. ศูนย์กลางนวัตกรรมพลังงานชีวภาพ (Bioenergy Innovation Hubs) โดย รศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร

มุ่งเน้นการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ขยะพลาสติก และก๊าซชีวภาพหรือก๊าซไบโอมีเทน มาเพิ่มมูลค่าโดยใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเพื่อเปลี่ยนวัสดุเหลือทิ้งและขยะเป็นพลังงาน ได้แก่ ก๊าซชีวภาพอัด (Compressed Biomethane Gas หรือ CBG) ถ่านอัดแท่ง (Biochar) และน้ำมันไพโรไลซิส (Pyrolysis Oil) มีการบริหารจัดการหลายรูปแบบทั้งวิสาหกิจชุมชน บริษัท SME ในพื้นที่ต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดศูนย์กลางนวัตกรรม 3 ศูนย์ ได้แก่


1. ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและต้นแบบระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) โดยใช้นวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดจากน้ำเสียโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มด้วยเทคโนโลยีเมมเบรน มีกำลังผลิตประมาณ 6 ตันต่อวัน หรือ 1,980 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 32.85 ล้านบาทต่อปี (อ้างอิงราคาก๊าซ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซ 16.59 บาทต่อกิโลกรัม) ที่ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีส่วนผลักดันให้เกิดประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของไบโอมีเทนสำหรับยานยนต์พ.ศ. 2561


2. ศูนย์นวัตกรรมแปรรูปชีวมวลเหลือทิ้งด้วยนวัตกรรมเป็นเชื้อเพลิงแข็ง (Biochar) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินงานร่วมกับผู้นำวิสาหกิจชุมชนในการบริหารจัดการและเรียนรู้เทคโนโลยีในการแปรรูปชีวมวลเหลือทิ้งของแต่ละพื้นที่ ได้แก่ กะลามะพร้าวในอำเภอแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม เศษไม้ไผ่จากการทำข้าวหลาม ใน หนองมน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี และเศษเหง้ามันสำปะหลังในอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยสามารถผลิตถ่านอัดแท่งและถ่านกัมมันต์ไม่ต่ำกว่า 200 ตันต่อเดือน ต่อพื้นที่ เป็นมูลค่าประมาณ 24 ล้านต่อปีต่อพื้นที่


3. ศูนย์นวัตกรรมน้ำมันไพโรไลซิส จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการต่อยอดงานวิจัยในการนำขยะพลาสติกมาผลิตน้ำมันผสมเพื่อนำน้ำมันไปผลิตกระแสไฟฟ้า โดยนำขยะพลาสติกจากบ่อขยะในพื้นที่ อบต. มหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับบริษัทอยุธยาพลังงานสะอาด และ อบต. แพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับ บริษัทอีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด มีกำลังการผลิตน้ำมันผสมทดแทนดีเซลไม่ต่ำกว่า 1 ล้านลิตรต่อปี มีมูลค่าประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี ต่อพื้นที่ 

158212579851


นอกจากนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจาก Bioenergy Innovation Hubs สามารถถ่ายทอดไปสู่ชุมชนและภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้แล้ว ยังมีส่วนในการจัดการด้านวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและขยะพลาสติก ในการช่วยผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นการนำไปสู่การปฏิบัติจริง รวมทั้งช่วยลดปัญหาการเผาวัสดุเหลือทิ้งการเกษตรซึ่งทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและฝุ่นควันที่กลายเป็นหนึ่งปัญหาหลักของประเทศ


3. ศูนย์กลางนวัตกรรมสังคมสูงอายุ (Ageing Society Innovation Hubs) โดย ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ สนับสนุนสำหรับการดำเนินงาน รวมทั้งสิ้น 98 โครงการ แก่ 16 มหาวิทยาลัย สังกัดภายใต้ ทปอ. รายละเอียดดังนี้

-โครงการวิจัยเพื่อแปลงผลงานสู่การใช้ประโยชน์ (Translational Research) และประเภทบริษัท Startup จำนวน 89 โครงการ -โครงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านชุดตรวจวินิจฉัย (Diagnostic) แก่ 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.นเรศวร ม.สงขลานครินทร์ ม.มหิดล ม.บูรพา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

-โครงการการพัฒนาบ้านอัจฉริยะเพื่อผู้สูงอายุในยุค Thailand 4.0 และโครงการการพัฒนาวิธีวิเคราะห์สารกลุ่มคาเทชินในชาเมี่ยงสาหรับห้องปฏิบัติการมาตรฐาน  สามารถจัดกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์โครงการ

-โครงการการพัฒนาบ้านอัจฉริยะเพื่อผู้สูงอายุ รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรชนิดใหม่ ชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคไวรัส เชื้อแบคทีเรีย รวมถึงความปลอดภัยทางอาหาร Application หรือระบบจัดการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือ แจ้งเตือน ป้องกัน อำนวยความสะดวก รวมถึงการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ยา/อาหาร/อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสะดวกในการทาน ครีม หรือชุดเวชสำอาง และ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

ตัวอย่างผลงานกลุ่มเรื่องสังคมผู้สูงอายุมีผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดรายได้จากทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ มีดังนี้ 

1. โครงการ “แผนธุรกิจและการพัฒนาระบบผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อสาหรับจุลชีพที่ดื้อยาปฏิชีวนะ” ตลาดภายในประเทศ ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อจุลชีพที่ดื้อยาปฏิชีวนะ (STEREX) ได้ขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์แล้ว โดยในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม พ.ศ.2561 มียอดขายในประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.50 ล้านบาท

2. โครงการ “วุ้นไคโตซานจับไขมัน” ปัจจุบันมีรายได้โดยรวมเกิดขึ้นประมาณ 250 ล้านบาท และมีการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อการส่งออกเรียบร้อยแล้ว และมีนักลงทุนสนใจลงทุน

3. โครงการ Diagnostic Technology and Development platform ได้สนับสนุนการจัดทำห้องปฏิบัติการที่มีความแตกต่างกันเพื่อพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยให้กับ 7 มหาวิทยาลัย

4. โครงการ Thailand Clinical Research Enterprise (TCRE) หรือ ศูนย์ทดสอบยาและเวชภัณฑ์ทางคลินิกระดับประเทศ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ก่อนที่จะขึ้นทะเบียนและสามารถนำมาใช้โดยผู้ป่วยและผู้บริโภคทั่วไป

158212585334 ภาพ อุปกรณ์ตรวจประเมินภาวะข้อเข่าก่อนการเสื่อม โดยมหาวิทยาลัยมหิดล

4. ศูนย์กลางนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (Smart City Innovation Hubs) โดย ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร

Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ คือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ICT (Information, Communication and Technology) ในการบริหารจัดการเมืองให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด เพื่อให้เมืองน่าอยู่ โดยวางกรอบแนวทางการพัฒนาเมืองหรือชุมชน ร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ประชาชน และผู้บริหารเมือง นำไปสู่การต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล  จัดแบ่งออกเป็น 5. ด้าน คือ 1. การคมนาคม (Mobility) 2. ความเป็นอยู่และสุขภาวะ (Living) 3. ด้านสาธารณูปโภค (Utilities) 4. การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economy) และ 5. สิ่งแวดล้อม (Environment) พร้อมทั้งจัดทำ แพลตฟอร์มข้อมูลส่วนกลางของเมือง (City Data Platform)  เพื่อรองรับการบริหารจัดการบนพื้นฐานของข้อมูลที่เกิดขึ้น 


โดยมีเมืองนำร่อง ได้แก่

- อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทางด้านสิ่งแวดล้อม ระบบบริหารจัดการน้ำ ป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ แจ้งเตือนประชาชน ไม่ให้เกิดผลกระทบความเสียหายจาก สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และสภาพอากาศ PM2.5 ที่สามารถแจ้งเตือนประชาชนแบบเรียลไทม์

- จังหวัดขอนแก่นที่มีระบบบริหารจัดการขยะ

- บางแสน จังหวัดชลบุรี ทางด้าน smart health ในมุมของ smart living ตรวจวัดการล้ม และเก็บข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชนบางแสน ทำให้สามารถวิเคราะห์และดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุได้มีประสิทธิภาพ ระบบบริหารจัดการพลังงานทางเลือกจาก solar cell

- จังหวัดเชียงใหม่ ระบบบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ระบบบริหารจัดการด้านการคมนาคมขนส่ง การบริหารจัดการจราจรแท็กซี การเดินรถบรรทุก ระบบดูแลรักษาความปลอดภัยด้วยกล้องวงจรปิด


ในภาพรวมโครงการได้ร่วมมือกับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการรายย่อย 45 ราย มีการสร้างรายได้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่องค์กรมากกว่า 10 ล้านบาท และมีการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรวมกว่า 580 ล้านบาทจากผลการนำงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ในภาคธุรกิจและพื้นที่ร่วมดำเนินการ นอกจากนี้แล้ว นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นจาก Smart City Innovation Hub ยังสามารถถ่ายทอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การควบคุมยานพาหนะผ่านทางไกลแบบเรียลไทม์ในโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยความร่วมมือกับบริษัท AIS และ SCG โดยสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน (เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต) ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมของสัตว์ทำให้การเลี้ยงมีประสิทธิภาพสูงสุด (เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน) และการขยายผลระบบบริหารจัดการสุขภาพเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย (ทำให้ลดความสูญเสียในการรักษาโรค) 

5. ศูนย์กลางนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Hubs) โดย รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล

เป็นโครงการที่นำเครือข่ายวิจัยอุดมศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัยแม่ข่าย 9 แห่งกระจายในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และมีสถาบัน การศึกษา ทั้งใน ทปอ. และนอก ทปอ. ร่วมมือกันในการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกิดจากการวิจัยมาต่อยอดส่งเสริมศักยภาพของท้องถิ่น โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ โดยมุ่งเน้นที่งานหัตถกรรมและการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ที่ส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์ เช่น ท่องเที่ยว 

158212626065

ภาพ นักวิจัย ม.ขอนแก่น และ ม.เชียงใหม่ พัฒนาเครื่องผลิตเลเซอร์ส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

ขณะเดียวกันก็จะมีการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ University Creative Counsel Network Hub 9 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดำเนินภารกิจในการสร้างสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้เกิดการนำวิจัยมาต่อยอดศักยภาพในท้องถิ่น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน โดยในปีแรกได้มีการสนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการจำนวน 100 รายการ ผู้ประกอบการใหม่ 27 ราย โดยใช้งบประมาณ 93 ล้านบาท กระจายให้กับมหาวิทยาลัย 34 แห่งในพื้นที่ 37 จังหวัด และการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ University Creative Counsel Network Hub ให้สามารถเป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับท้องถิ่น  ผลการประเมินอัตราผลตอบแทนทางสังคมเป็น 2.4 เท่าของเงินลงทุน คิดเป็นผลกระทบทางสัมคมรวม 223 ล้านบาท