มหิดลนครสวรรค์-ซินเจนทา จับมือเปิดศูนย์เรียนรู้ 'รักษ์ผึ้ง (Bee Love)'
มหาวิทยาลัยมหิดลนครสวรรค์ และ ซินเจนทา ร่วมมือพัฒนาโครงการ "รักษ์ผึ้ง" (Bee love project) บนพื้นที่เกือบ 20 ไร่ในวิทยาเขตนครสวรรค์ หวังเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องธรรมชาติของชุมชน และขยายเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงนิเวศในอนาคต
แพทย์หญิง มนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.จรูญโรจน์ โชติวิวัฒนกุล ฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาโครงการ "รักษ์ผึ้ง" (Bee love project) กับ นายธนัษ อภินิเวศ ผู้อำนวยการ และนางสาววัชรีภรณ์ พันธ์ภูมิพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด หรือ ซินเจนทา โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ณ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของผึ้ง และแมลงผสมเกสร ส่งเสริมนักศึกษา และชุมชนให้มีส่วนร่วมในการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยผึ้ง ชันโรง และแมลงผสมเกสร โดยมีระยะเวลาดำเนินการร่วมกัน 3 ปี
แพทย์หญิงมนทกานติ์ เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวคิดสำคัญของรูปแบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะในหลักสูตรเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer นั่นคือ "ผลิตได้ ขายเป็น ปลอดภัย และยั่งยืน" ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ที่ต้องการสร้างความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ไม่เพียงจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนา และปฏิบัติจริง ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผึ้ง และแมลงผสมเกสร มีผลผลิตที่ปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่จะเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลการวิจัยใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัย ไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายและสาธารณะได้ต่อไป
รศ.จรูญโรจน์ กล่าวเสริมว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ชี้แจงว่าร้อยละ 75 ของพืชผลบนโลกที่มนุษย์นำมาบริโภคนั้น เกิดจาการผสมเกสรของผึ้ง จึงเป็นหน้าที่ของประชาคมโลกที่จะต้องหันมาสนใจปกป้องและอนุรักษ์ผึ้ง หนึ่งในปัญหาสำคัญของการทำการเกษตรในปัจจุบัน คือ สภาวะโลกร้อน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้มีผลต่อความหลากหลายทางชีวิภาพ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างไม่ถูกต้องและเกินความจำเป็น การเกิดโรคไวรัสในผึ้ง ปัจจัยเหล่าทำให้เกิดผลกระทบกับผึ้งและแมลงผสมเกสร โครงการรักษ์ผึ้ง จึงเป็นการดำเนินงานที่บูรณาการองค์ความรู้อย่างรอบด้าน เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยภาคเกษตรกรรม และสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาจารย์สิทธิพงษ์ วงศ์วิลาศ นักวิชาการศึกษา โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ และผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการ กล่าวสรุปแผนการดำเนินงานของสองกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ อย่างแรก คือ การพัฒนาพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ของมหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ บูรณาการองค์ความรู้อย่างรอบด้านเข้าไปในหลักสูตรการเรียนและการสอน ทั้งในด้านการเลี้ยง การเพิ่มผลผลิต การแปรรูปจากผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดกิจกรรมอบรมและค่ายความรู้ความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่กลุ่มชุมชนและนักเรียนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาโครงการ พัฒนาองค์ความรู้เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ในอนาคตจะสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดนครสวรรค์
และอย่างที่สอง คือ มุ่งเน้นให้ความรู้ แนวทางการปฏิบัติ สร้างเครือข่ายเกษตรกรกับผู้เลี้ยงผึ้ง ปลุกจิตสำนึกในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง และเหมาะสม เพื่อลดอัตราการสูญเสียของผึ้ง และ แมลงผสมเกสร เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่ม มีมูลค่าจากการเลี้ยงผึ้งเพิ่มมากขึ้น
"โครงการรักษ์ผึ้ง เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของซินเจนทา ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยจะนำนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร มาร่วมวิจัย เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง เกษตรกรชาวสวนผลไม้ อุตสาหกรรมจากผึ้ง และคนในชุมชนดำเนินงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เกิดการพึ่งพาและเอื้อประโยชน์ต่อกัน รวมทั้งเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร โดยอาศัยผึ้ง ชันโรง และแมลงผสมเกสร นับเป็นการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืนอีกด้วย" นางสาววัชรีภรณ์ พันธ์ภูมิพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน ซินเจนทา กล่าวเสริม
สำหรับเกษตรกร นักเรียนและนักศึกษาที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจเข้าร่วมโครงการรักษ์ผึ้ง ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 088-445-6406 หรือ https://na.mahidol.ac.th/academic/
เกี่ยวกับซินเจนทา : www.syngenta.co.th
บริษัทซินเจนทาหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองบาเซิล สมาพันธรัฐสวิส ปัจจุบันมีพนักงานซินเจนทากว่า 27,000 คนในประเทศต่าง ๆ ครอบคลุมกว่า 90 ประเทศทั่วโลก เป้าหมายหลักขององค์กรซินเจนทาคือมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและอย่างเท่าเทียมทุกภูมิภาคของโลก ด้วยความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ระดับสากล เพื่อช่วยพัฒนาเกษตรกรรม ปกป้องสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรโลก ภายใต้พันธกิจ "นำศักยภาพของพืชสู่ชีวิต" (Bringing Plant Potential to Life)