'จักรยานไฟฟ้าEM' คำตอบการเดินทางระยะสั้น แทนมอเตอร์ไซค์
“ไลฟส์มูฟวิ่ง”ตอบโจทย์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เปิดตัว “กรีนอี-ไบค์” 6 รุ่นรองรับทุกฟังก์ชั่นใช้งานทั้งรับส่งสิ่งของ การเดินทางของคนรุ่นใหม่ เผยใช้ทดแทนจักรยานยนต์ได้ในระดับหนึ่งแต่ประหยัดพลังงานกว่า 10 เท่า ชูสมาร์ทรีโมทคอนโทรลเปิดปิดสวิตซ์ระยะไกล 20 เมตร
บิ๊กบอส 'ไลฟส์ มูฟวิ่ง' ชี้ระบุอนาคตอีก 5-10 ปีเทรนด์ยานพาหนะไฟฟ้าจะมาแรง โดยมี “จักรยานไฟฟ้า” เป็นผู้เล่นหลักที่ตอบความต้องการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดีที่สุด อีกทั้งมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เท่ากับการปลูกต้นไม้ 5 ต้นต่อคันต่อปี
ฉีกตลาดจักรยานไฟฟ้า
ธานัท ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไลฟส์ มูฟวิ่ง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัททำตลาดจักรยานในไทยตั้งแต่ปี 2559 เริ่มจากการจำหน่ายจักรยานเด็กและจักรยานแม่บ้าน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้คนไทยได้ออกกำลังกายและใช้เวลากับครอบครัวมากยิ่งขึ้น ต่อมาบริษัทได้อาศัยความชำนาญและมองเห็นแนวโน้มการเติบโตในตลาดจักรยานไฟฟ้า จึงใช้เวลากว่า 2 ปีพัฒนา “จักรยานไฟฟ้า EM (Electric Mobility for Everyone)" เริ่มวางจำหน่ายในปี 2561 ราคาเริ่มต้นที่หลักหมื่น
จักรยานไฟฟ้า EM แบ่งเป็น 6 รุ่นเพื่อตอบความต้องการของผู้ใช้งานทุกรูปแบบ ได้แก่ รุ่น EM Love เพื่อครอบครัวเน้นการขับขี่ประหยัดและทันสมัย รุ่น EM Mamachari เพื่อผู้สูงอายุเน้นความปลอดภัยและการออกกำลังกาย รุ่น EM3 เพื่อการขนส่งสินค้า และรุ่น EM2 เพื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่เน้นความคล่องตัวและน้ำหนักเบา โดยใช้วัสดุอุปกรณ์เกรดพรีเมี่ยมทั้งอลูมิเนียมและเหล็กที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งแบตเตอรี่ที่ถือเป็นหัวใจของยานยนต์ไฟฟ้า
“เราใช้แบตลิเธียมไอออน ซึ่งมีน้ำหนักเบา เมื่อรวมกับโครงสร้างทั้งคันทำให้น้ำหนักโดยรวมลดลง จึงสะดวกต่อการใช้งาน อีกทั้งจักรยานไฟฟ้าขนาดใหญ่จะใช้แบตเตอรี่ตะกั่วกรด (Lead Acid) เพื่อให้เหมาะกับโครงสร้างของการใช้งาน ทั้งนี้คาดว่าแบตลิเธียมไอออนจะยังคงอยู่กับเราไปอีก 5 ปีอย่างต่ำ ในอนาคตหากราคาปรับตัวลงก็จะปรับเปลี่ยนให้เป็นลิเธียมไอออนทั้งหมด”
น้ำหนักโดยรวมของจักรยานไฟฟ้าเริ่มต้นที่ 19 กิโลกรัม น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 200 กิโลกรัม ระยะเวลาการชาร์จ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งแบตเตอรี่ถอดเปลี่ยนได้ไม่ต้องรอชาร์จไฟ ส่วนการชาร์จไฟ 1 ครั้งมีค่าใช้จ่าย 2.30 บาท วิ่งได้ระยะทาง 30-70 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับการขับขี่ ขณะเดียวกันยังเพิ่มการใช้งานของรีโมทคอนโทรลในรูปแบบของสมาร์ทฟังก์ชั่น ที่ทำการค้นหาในระยะทางไกลได้ เปิดปิดการใช้งานโดยใช้ Keyless ในระยะ 20 เมตร”
การเดินทางโดยจักรยานไฟฟ้า EM ประหยัดพลังงานกว่าจักรยานยนต์ 10 เท่า อีกทั้งตัวจักรยานไฟฟ้ายังมีชิ้นส่วนสิ้นเปลืองน้อยกว่า ทำให้ค่าบำรุงรักษาน้อยกว่าจักรยานยนต์ 50% นอกจากนี้ บริษัทยังได้เสริมจุดแข็ง ด้วยการรับประกันที่ครอบคลุมคือ รับประกัน 1 ปี สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า คอนโทรลเลอร์ และแบตเตอรี่ 3 ปี สำหรับมอเตอร์ไฟฟ้า และ 5 ปีสำหรับโครงสร้างตัวถัง
“หลังจากวางจำหน่าย 6 เดือนแรกในปี 2561 สามารถทำยอดขายได้กว่า 500 คัน และในปีที่ผ่านมามียอดขายแตะ 2 พันคัน หรือประมาณ 50 ล้านบาท จากจำนวนรถที่ขายได้จะช่วยลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2 ล้านกิโลกรัม หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ถึง 1 หมื่นต้น”
ชูบริการครอบคลุม 70 สาขา
ธานัท กล่าวเสริมว่า ตลาดจักรยานไฟฟ้ามีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องสร้างความแตกต่างผ่านกลยุทธ์คือ 1.ช่องทางการจำหน่ายที่มีการขยายมากถึง 70 สาขาครอบคลุมหัวเมืองหลัก 2.บริการอะไหล่จากโรงงานของบริษัทที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน กรุงเทพฯ กำลังการผลิตรองรับ 3 หมื่นคันต่อปี
“นอกจากนี้บริษัทจะเสริมศักยภาพด้วยการพัฒนาสินค้า ทั้งจักรยานไฟฟ้าเพื่อขนส่งแบบงานหนักที่จะลดต้นทุนขนส่ง รวมถึงแผนต้นแบบสร้างพลังงานสะอาดที่พัฒนาร่วมกับชุมชน โดยจะนำร่องกับกลุ่มซาเล้งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อควบรวมจักรยานไฟฟ้าเข้ากับพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้สามารถชาร์จไฟจากแสงแดด"
อีกทั้งมุ่งการทำตลาดในต่างประเทศ โดยอาศัยช่องว่างจากเหตุกีดกันการค้าระหว่างจีนและอเมริกา-จีนและยุโรป เพื่อขยายฐานจักรยานไฟฟ้าส่งออกไปยังตลาดเหล่านั้น โดยจะต้องสำรวจความต้องการของแต่ละพื้นที่และปรับฟังก์ชั่นเพิ่มเติมเพื่อให้เข้ากับบริบทหรือกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น ความเร็วไม่เกิน 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ก็ต้องให้ตลาดภายในประเทศเข้มแข็งก่อน จึงจะออกสู่ต่างประเทศได้ภายในปี 2564
สำหรับในปี 2563 แม้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนอยู่มาก แต่เมื่อสำรวจผลประกอบการจากเดือน ม.ค.-ก.พ.พบการเติบโตกว่า 100% จึงทำให้มั่นใจว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงศักยภาพของจักรยานไฟฟ้า EM ทั้งด้านคุณภาพ การบริการตลอดจนช่องทางการจำหน่าย จะสามารถผลักดันให้ตัวเลขการเติบโตของบริษัทขยับขึ้นกว่า 200%