มหิดลวิจัย ‘เมดิคัลฟู้ด’จากข้าวไทย
สวก.หนุนนักวิจัย ม.มหิดล แปรรูปข้าวเป็น 'อาหารทางการแพทย์' สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ทดแทนผลิตภัณฑ์นำเข้าราคาแพง ระบุผ่านการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย ตั้งเป้าต้นปี 64 ผลิตออกสู่ตลาด
ที่ผ่านมา อาหารทางการแพทย์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนคาร์โบไฮเดรต ส่วนใหญ่จะใช้แป้งดัดแปลงจากข้าวโพดหรือมันสำปะหลัง และจะใช้โปรตีนจากน้ำนม ยังไม่พบว่ามีการใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อีกทั้งเป็นความต้องการของผู้ป่วยคนไทยที่ชอบบริโภคข้าวมากกว่าอาหารทางการแพทย์ที่มีส่วนผสมของน้ำนม ข้อดีจากการใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตก็คือ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเป็นการทำให้ข้าวไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและช่วยให้เกษตรกรขายข้าวได้มากขึ้นอีกด้วย
“การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ 1 มื้ออาหาร มีค่าใช้จ่ายประมาณ 60 บาทขึ้นไป เฉลี่ยต่อวันที่ 5 มื้ออาหาร คือประมาณ 300 บาทต่อวัน ด้วยเหตุนี้จึงมีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฯ ให้สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในประเทศ โดยใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบ”
อาหารทางการแพทย์ที่คิดค้นขึ้นนี้ มีสูตรและกระบวนการผลิตที่มีความเฉพาะ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารอาหารครบทุกชนิดในปริมาณที่เพียงพอต่อตามความต้องการทางโภชนาการของผู้ป่วย โจทย์ที่น่าสนใจมีอยู่ว่าคาร์โบไฮเดรตที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์จะต้องไม่ดูดซึมอย่างรวดเร็ว หรือทำให้น้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผลิตภัณฑ์ต้องมีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมสำหรับการให้ทางสายให้อาหาร อีกทั้งมีการใช้โปรตีนผสมจากพืช ที่มีชนิดและปริมาณของกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการสร้างโปรตีนชนิดต่างๆ ในร่างกาย สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีการแพ้โปรตีนนมหรือไข่
จึงได้คิดค้นสูตรและกระบวนการผลิตภายใต้แนวคิด “การแยกส่วนของข้าวออก แล้วเติมกลับเข้าในผลิตภัณฑ์เพื่อปรับปรุงให้ได้คุณลักษณะที่ต้องการ” หรือ “remove to improve” เพื่อให้สามารถนำข้าวไทยมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์และผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในระดับอุตสาหกรรม
โครงการวิจัยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์โดยใช้สัตว์ทดลอง และสุดท้ายเป็นส่วนของการศึกษาทางคลินิกกับผู้ป่วย ที่ดำเนินงานร่วมกับคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชนผู้ผลิต เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยตั้งเป้าผลิตออกสู่ตลาดภายในต้นปี 2564 ทั้งชนิดพร้อมบริโภคและชนิดผงชงละลาย ที่มีอายุการเก็บรักษานานกว่า 1 ปี
"ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์นี้ให้ความสะดวก สะอาดและสารอาหารที่ครบถ้วน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวาน ผลงานวิจัยได้จดอนุสิทธิบัตรแบบ non-exclusive เปิดโอกาสให้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเบาหวาน และส่งเสริมเศรษฐกิจไทยอีกด้วย” ผศ.สุภัทร์ กล่าว