'กล่องขนส่งโลหิตอัจฉริยะ' จุฬาฯ ติดชิพส่องอุณหภูมิ
“กล่องขนส่งโลหิตอัจฉริยะ” นวัตกรรมเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพจากความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับซิลิคอน คราฟท์ฯ ติดตั้งเซ็นเซอร์มอนิเตอร์อุณหภูมิถุงเลือดในกล่อง สามารถตรวจสอบผ่านโทรศัพท์มือถือ ระบุหากสำเร็จจะต่อยอดใช้กับการขนส่งยา วัคซีนและเวชภัณฑ์อื่นๆ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) และศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ผนึกความร่วมมือกับบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ในการวิจัยและพัฒนาเซ็นเซอร์และระบบวงจรตรวจวัดอุณหภูมิที่ติดตั้งเข้ากับกล่องขนส่งโลหิตอัจฉริยะ เพื่อตรวจสอบอุณหภูมิของถุงโลหิตภายในกล่องตลอดระยะเวลาการขนส่ง
พร้อมแจ้งเตือนหากระบบตรวจพบว่าอุณหภูมิของถุงโลหิตอยู่นอกเกณฑ์ปกติที่ได้กำหนดไว้ เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์และบุคลากรของสถานพยาบาลในการจัดการกับโลหิตภายหลังการขนส่ง รวมทั้งต่อยอดองค์ความรู้ในการผลิตกล่องขนส่งโลหิตอัจฉริยะที่สามารถควบคุมอุณหภูมิระหว่างการขนส่งให้โลหิตมีคุณภาพดี ซึ่งจะช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ต้องการเลือดในการรักษาได้ ส่วนด้านภาคเอกชนเล็งตลาดครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมห้องเย็นและการขนส่งที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ
โจทย์วิจัยจากโรงพยาบาล
อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่จะทำหน้าที่เบิกถุงเลือดจากคลัง โดยบรรจุไว้ในกระติกน้ำแข็งแล้วและนำส่งถึงผู้ป่วย แต่ด้วยสภาพแวดล้อมภายนอก รวมถึงลักษณะการจัดวางน้ำแข็งในกระติกและระยะเวลาที่ถุงเลือดไปถึงผู้ป่วย อาจส่งผลให้อุณหภูมิเลือดเปลี่ยนไปไม่ว่าจะร้อนหรือเย็นเกินไป มีผลต่อจำนวนเม็ดเลือดและคุณภาพของเลือด ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษา ขณะที่อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาเลือดเพื่อส่งต่อให้ผู้ป่วยควรอยู่ระหว่าง 1-10 องศาเซลเซียส จึงส่งโจทย์ความต้องการนี้ไปยังศูนย์ความเป็นเลิศฯ
ศ.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร ผู้อำนวยการ PETROMAT กล่าวว่า ศูนย์ฯ มีความเชี่ยวชาญเรื่องวัสดุเก็บความเย็น จึงออกแบบกล่องขนส่งให้มีลักษณะเบาและเก็บความเย็นได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้หารือกับทางซิลิคอน คราฟท์ฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตไมโครชิพ กระทั่งนำมาสู่ความร่วมมือในการพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิในกล่องขนส่งโลหิต
เบื้องต้นจะจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 150 ชิ้นเพื่อให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทดลองใช้ และหากประสบความสำเร็จ อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นนี้จะเป็นประโยชน์ไม่เพียงแต่จุฬาฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยและโรงพยาบาลอื่นๆ ด้วย
ประยุกต์สู่บริการดูแลสุขภาพ
นัยวุฒิ วงษ์โคเมท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ฯ กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้วิจัยและพัฒนาไมโครชิพกลุ่มอาร์เอฟไอดี เปิดดำเนินการมา 18 ปี ด้วยสินค้ามีความเป็นอิเล็กทรอนิกส์จำเพาะหรือกลุ่มต้นน้ำ อาทิ ไมโครชิพสำหรับอุปกรณ์ระบุรหัสประจำตัวสัตว์ด้วยคลื่นวิทยุ ไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกอาคาร ไมโครชิพที่ใช้ในดอกกุญแจสำรองและเครื่องอ่านรหัสกุญแจสำรองแบบเข้ารหัสของยานยนต์
สินค้าส่งออกทั้งหมด ทำให้ที่ผ่านมาแทบจะไม่เคยมีความร่วมมือวิจัยในประเทศ ต่อมาช่วงหลังได้พัฒนา NFC นำมาใช้งานร่วมกับเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าต่างๆ เช่น วัดอุณหภูมิ ตรวจโรค คุณภาพน้ำและสารเคมี จึงเป็นจุดเริ่มที่ทำให้สนใจทำการวิจัยด้านเฮลท์แคร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในประเทศ ซึ่งนอกจากจุฬาฯ แล้ว บริษัทยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการอุปกรณ์วัดค่าออกซิเจนในเลือดแบบสวมนิ้วอีกด้วย
“แนวโน้มการพัฒนาเซ็นเซอร์และไมโครชิพ จะมุ่งรองรับบริการการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล เช่น การตรวจวัดทางสุขภาพเบื้องต้นที่สามารถอ่านค่าได้จากสมาร์ทโฟน อาทิ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจวัดเชื้อโรคในสารคัดหลั่งที่อาจจะมาจากเหงื่อหรืออื่นๆ”
ทั้งนี้ เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายระยะใกล้ หรือ NFC ใช้ประโยชน์ในการส่งข้อมูลระยะสั้นและมีความปลอดภัยสูง ถูกนำไปใช้ในการชำระเงินค่าโดยสารหรือค่าสินค้า รวมถึงบางบริษัทนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เป็น secure keycards หรือ business cards เพื่อความรักษาความปลอดภัย ตลอดจนการแชร์ข้อมูลกับสมาร์ทดีไวซ์อื่นๆ
“โครงการความร่วมมือกับจุฬาฯ ในครั้งนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการติดตามคุณภาพเลือดให้อยู่ในมาตรฐานสากล ทำให้ต้องมีการบันทึกข้อมูลอุณหภูมิไว้ตลอดเวลา จึงได้ออกแบบตัววัดอุณหภูมิ ทำการบันทึกไว้ในชิพเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อเทคโนโลยี NFC ในโทรศัพท์มือถือ ทำให้ตรวจสอบผ่านโทรศัพท์มือถือได้ว่า ตลอดระยะเวลาในการขนส่งนั้น อุณหภูมิของเลือดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร” นัยวุฒิ กล่าว