โซลูชั่น 'เวิร์คแอทโฮม' ฮิต ยักษ์ไอทีผุดข้อเสนอรับมือโควิด19
โซลูชั่น เวิร์คแอทโฮม ฮิตชั่วข้ามคืน องค์ธุรกิจใช้เป็นมาตรการรับมือโรคระบาดให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ 'ไมโครซอฟท์' จ่อโชว์คุณสมบัติ ไมโครซอฟท์ ทีมส์ เครื่องมือออนไลน์ตัวฮิตอังคารนี้ 'ดีอีเอส' ผนึกค่ายมือถือ ยักษ์เทคฯ หนุนเวิร์คแอทโฮมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการสำคัญที่องค์กรธุรกิจนำมาใช้ปัจจุบัน เพื่อรับมือโรคระบาดโควิด-19 คือ ให้พนักงานสามารถทำงานได้จากที่บ้าน โดยใช้เครื่องมือออนไลน์ที่มีอยู่มากมาย จากผู้ให้บริการยักษใหญ่เทคโนโลยีชั้่นนำให้บริการอยู่
ไม่ว่าจะเป็น ซิสโก้ ซิสเต็มส์ หัวเว่ย ไมโครซอฟท์ กูเกิล เฟซบุ๊ค นูทานิคซ์ ไอบีเอ็ม ไลน์ และอีกหลายๆ บริษัทยักษ์เทคโนโลยีที่เข้ามาเปิดสาขาทำธุรกิจในประเทศไทย ที่กำลังได้รับอานิสงส์ของโรคระบาดโควิด-19 ขณะที่ ผู้ให้บริการเหล่านี้ ยังได้มีข้อเสนอในการ "ช่วย" องค์กรธุรกิจให้สามารถใช้งานโซลูชั่นออนไลน์ประเภทต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ในระยะเวลาหนึ่ง หรือในช่วงสถานการณ์วิกฤติในขณะนี้) ด้วยเช่นกัน
โดยในวันอังคารที่ 17 มี.ค. ที่จะถึงนี้ ไมโครซอฟท์ หนึ่งในบริษัทยักษเทคโนโลยีที่มีโซลูชั่นดิจิทัลที่หลากหลายที่ ให้ผู้คนสามารถทำงานที่ใดก็ในโลกผ่านเทคโนโลยี จะแถลงข่าวออนไลน์แบบ virtual press briefing ในรูปแบบคลิปบันทึกภาพการแถลงจากสหรัฐอเมริกา ส่งตรงมายังประเทศไทย นำโดยคุณยาเร็ด สปาทาโร รองประธานฝ่าย Microsoft 365 ซึ่งงานแถลงข่าวในครั้งนี้จะเป็นการเปิดตัวคุณสมบัติใหม่มากมายสำหรับ Microsoft Teams แอพสำหรับการทำงานเป็นทีมใน Office 365
ด้านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส โดยเจ้ากระทรวง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่าน มา ได้ประชุมหารือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.ทีโอที บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ 3 บีบี
รวมถึงผู้ผลิตซอฟต์แวร์จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ไมโครซอฟท์ ซิสโก้ และกูเกิล เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตและมีการนำซอฟต์แวร์ที่มีการให้บริการอยู่ในปัจจุบันมาเป็นเครื่องมือในการทำงานเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวนี้ ประกอบด้วย Microsoft Team , WebEx Team และ Hangout
โดยคาดว่า จะเริ่มดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐ โดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะสนับสนุนการให้บริการ อินเทอร์เน็ตแก่บุคคลากรในการปฏิบัติงานนอกสถานที่เพื่อให้บุคลากรสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และผู้ผลิตซอฟต์แวร์ได้ให้บริการเครื่องมือในการทำงานร่วมกันของบุคลากรทั้งภายในหน่วยงาน และภายนอกหน่วยงานโดยเป็นการให้บริการโดยไม่ คิดค่าใช้จ่ายเป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้สามารถติดต่อประสานงาน แก้ไขเอกสาร จัดเก็บเอกสาร รวมถึงประชุมหารือร่วมกันได้ทุกที่ ตลอดเวลา