อว.เล็งใช้ ‘เทเลเฮลท์’ ลดแออัด รพ.
“สุวิทย์” สั่งทำระบบสุขภาพทางไกล ช่วยบริการคัดกรอง วินิจฉัยเบื้องต้นและตอบคำถามผ่านระบบตอบการสนทนาอัตโนมัติ ระบุให้บริการประชาชนที่สงสัยกว่าจะติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเรื้อรังแต่ไม่ติดเชื้อ ที่ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจตามนัดหรือรับยา ใช้ได้ปลาย มี.ค.นี้
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) จัดทำระบบสุขภาพทางไกลหรือ เทเลเฮลท์ เพื่อให้บริการคัดกรอง วินิจฉัยเบื้องต้น และตอบคำถามผ่านระบบตอบการสนทนาอัตโนมัติ (แชทบอต) สำหรับประชาชนที่สงสัยกว่าจะติดเชื้อ และยังใช้ระบบการแพทย์ทางไกลสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังแต่ไม่ติดเชื้อ (NCDs) ที่ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจตามนัดหรือรับยา
ระบบดังกล่าวช่วยรับโทรศัพท์เก็บประวัติและติดตามอาการรองรับได้ประมาณ 1.5 ล้านคนต่อวัน ตั้งเป้าจะช่วยลดจำนวนผู้ที่ต้องมาโรงพยาบาลลงอย่างน้อย 20% หรือ 750,000 ครั้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการเดินทางไปยังสถานพยาบาล ลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ระบบสุขภาพทางไกล จะเป็นแอพพลิเคชั่นใช้ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ โดยจะมีการรวบรวมทุกแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องให้อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน เช่น ระบบแนะนำเบื้องต้นด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วม ได้แก่ ใกล้มือหมอ, Agnos และ Deverhood ระบบปรึกษาแพทย์ผ่านเทเลเฮลท์ โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วม ได้แก่ แอพชีวี และ OCCA ระบบเอไอช่วยรับโทรศัพท์เก็บประวัติและติดตามอาการ โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมได้แก่ CovidCareBot
ระบบเอไออ่านภาพเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อคัดกรองผู้ป่วย โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วม ได้แก่ Inspectra และระบบดูแลผู้ป่วย NCDs สตาร์ทอัพที่เข้าร่วม ได้แก่ Diamate และ Pharmasafe คาดว่าจะสามารถพร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ภายใน 2 สัปดาห์ หรือ ปลายเดือน มี.ค.นี้ บนเว็บไซต์ https://ymid.or.th/ ซึ่งจะเชื่อมกับเว็บไซต์ย่านนวัตกรรมสวนดอกต่อไป และสามารถเข้าไปติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ในไลน์แอด @YMID
“ที่สำคัญ เพื่อลดความตื่นตระหนกของคนในสังคม และสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งในแง่การติดตามและตรวจสอบกลุ่มเสี่ยง การลดการบริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ฯลฯ กว่า 50 ราย เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและแนวทางการกู้วิกฤต การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย” นายสุวิทย์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายสุวิทย์ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางการวิจัยและวิชาการ (RKEOC) โดยมอบให้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เตรียมงบประมาณสนับสนุนการวิจัยเร่งด่วนไว้แล้ว 250 ล้านบาท ในขณะนี้ได้ให้ทุนวิจัยไปแล้ว 10 โครงการในประเด็นการศึกษาเชื้อและลักษณะพันธุกรรมของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อเข้าใจการแพร่กระจายของเชื้อ และวิธีการวินิจฉัยและชุดตรวจเพื่อวินิจฉัยที่รวดเร็วแม่นยำ รวดเร็ว และการพัฒนายาและวัคซีน