นวัตกรรม
มช.ส่งตรง "หน้ากาก" 5 พันชิ้นล็อตแรกถึงมือหมอ
ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อม มช. เร่งผลิตหน้ากากอนามัยป้องกันโควิด-ฝุ่นพิษ ภายในสัปดาห์นี้ป้อนล็อตแรกให้ทีมหมอ-พยาบาล 2 โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย-กลุ่มเสี่ยงโควิดในพื้นที่เชียงใหม่ 5,000 ชิ้น พร้อมชวนสมทบทุนผลิตหน้ากากให้กับแพทย์ พยาบาลและประชาชนที่ขาดแคลน
นายว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า มูลนิธิมหาวิทยาลัยพัฒนาเชียงใหม่ ร่วมกับคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยฯ ได้จัดทำ “หน้ากากของประชาชนเพื่อประชาชน” (Mask 4 All) เพื่อผลิตหน้ากากอนามัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชนที่เสี่ยงต่อเชื้อโควิด-19 และฝุ่นพิษ โดยเบื้องต้นได้ทำการทดลองผลิตหน้ากากที่สามารถป้องกันสารคัดหลั่งได้ 100% และกันฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้มากกว่า 80% ทั้งยังสามารถทำการซักล้างตามคำแนะนำขององค์การอนามัย
ศูนย์วิจัยฯ ได้ผลิตหน้ากากอนามัยทั้งหมด 3 แบบ คือ แบบที่ 1.หน้ากากผ้าซักได้ แต่ใช้แผ่นกรองอากาศสอดไปในผ้า สามารถป้องกันสารคัดหลั่งและฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ผ่านการรับของจากเนลสัน ที่ผ่านมาได้บริษัท ตันติยานันท์ การ์เม้นท์ จำกัด มาดำเนินการให้ฟรี และฝึกอบรมให้กับชาวบ้าน ส่วนแบบที่ 2 จะใช้เนื้อผ้าสปันบอนด์ กระดาษแบบ Non-Woven และใช้แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง กรองฝุ่นละออง เชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรีย อนุภาคขนาดเล็ก ซึ่งผ่านการทดสอบจากเครื่องมือของ OHSAS สหรัฐอเมริกา ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ตันติยานันท์ฯ ในการตัดแบบก่อนที่จะส่งให้ชาวบ้านในพื้นที่เชียงใหม่และเชียงราย เป็นผู้ตัดเย็บ
หลังจากนั้นจะส่งกลับเข้ามาตรวจสอบคุณภาพ และเข้าระบบฆ่าเชื้อทำความสะอาด ขณะนี้มีกำลังผลิตประมาณสัปดาห์ละ 10,000 ชิ้น คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีหน้ากากอนามัยล็อตแรก 5,000 ชิ้น ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลนครพิงค์และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่มีความจำเป็นใช้งานมากทีี่สุด และในอนาคตอันใกล้นี้กำลังประสานงานกับทางโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ให้มาทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานอย่างเร่งด่วนในสถานการณ์การแพร่ะระบาดของโควิด-19 และปัญหาหมอกควัน
แบบที่ 3 ได้นำนวัตกรรมนาโนเข้ามาเพิ่มศักยภาพ ด้วยการใช้แผ่นกรองอากาศนาโน ซึ่งจะสามารถป้องกันไวรัสโคโรนา และผ่านการรับรองจากเนลสันแล้ว โดยหน้ากากดังกล่าวจะป้องกันสารคัดหลั่งและฝุ่นละอองขนาด 0.075 ไมครอน อีกทั้งสามารถทำการซักล้าง และนำกลับมาใช้งานได้อีกไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในการผลิตหน้ากากของประชาชนฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางมลูนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 แสนบาท แต่ด้วยความต้องการหน้ากากในช่วงนี้มีจำนวนมาก และยังอยู่ในภาวะขาดแคลน โดยเฉพาะในกลุ่มของบุคลากรทางการแพทย์ในเชียงใหม่ ที่ต้องรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังขาดงบประมาณทั้งโครงการต้องใช้เงินประมาณ 1.5 ล้านบาท จึงรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันบริจาคเงินเพื่อจัดทำหน้ากากอนามัยดังกล่าว
โดยร่วมบริจาคได้ที่บัญชี มูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 667 260962 6