ต้นแบบ สมาร์ทฟาร์ม ‘ดิจิทัล’ พัฒนาเกษตรวิถีใหม่

ต้นแบบ สมาร์ทฟาร์ม ‘ดิจิทัล’ พัฒนาเกษตรวิถีใหม่

ดึงประโยชน์ของ 'ไอโอที' มายกระดับการบริหารจัดการ

158566305133

เราต้องการสร้างแหล่งการเรียนรู้ ช่วยให้เกษตรกรได้เรียนรู้และทำความเข้าใจการเกษตรสมัยใหม่ที่จะช่วยให้พวกเขามีแนวทางสำหรับการทำการเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ได้รับผลผลิตที่มากขึ้น ภายใต้ต้นทุนที่ลดลง ขณะเดียวกันลดระยะเวลาและเพิ่มความสะดวกในการทำงาน

สำหรับจุดเริ่มต้น ทางเจ้าหน้าที่ของกสทได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ของโรงเรียนต่างๆ เพื่อมาประกอบการวิเคราะห์และวางแผนการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือ ไอโอที มาปรับเข้าสู่ระบบสมาร์ทฟาร์มให้เข้ากับสิ่งที่โรงเรียนมีอยู่ หลังจากนั้นจึงทำการติดตั้งอุปกรณ์และเซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น ระบบรดน้ำอัตโนมัติ ระบบควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นในดิน อากาศ กับแปลงเกษตรของโรงเรียน

พร้อมทั้งแนะนำการใช้งานแอพพลิเคชั่นสำหรับการควบคุมและสั่งการอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน โดยระบบจะจัดเก็บบันทึกข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์การเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับพืชผักในแต่ละชนิดและนำไปพัฒนาต่อในอนาคต

“เราเน้นนำประโยชน์ของเทคโนโลยีไอโอทีมาใช้พัฒนายกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการของฟาร์มเกษตรต่างๆ ในรูปแบบของดิจิทัลฟาร์ม เป้าหมายหลักต้องการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่และกลุ่มเยาวชนให้เติบโตเป็นคนพันธุ์ดีในยุค 4.0 ให้ได้”

ปัจจุบัน เริ่มพัฒนาให้กับโรงเรียนต้นแบบในทุกภูมิภาครวม 7 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสระพังวิทยาคม จังหวัดชัยภูมิ โรงเรียนมัธยมหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ จังหวัดนครราชสีมา โรงเรียนบ้านกำแพงเพชร จังหวัดสงขลา โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนวัดหุบรัก(ไพรประชาอุปถัมภ์) จังหวัดนครปฐม โรงเรียนบ้านปรือวายใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม จังหวัดสระบุรี และในอนาคตจะขยายผลต่อไปยังวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติมมากขึ้นตามลำดับ

กสทเผยว่า หลังจากที่ทดลองใช้งานกับแปลงผักในแต่ละโรงเรียนแล้วได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่สามารถนำมาปรับใช้กับการเกษตร ความสะดวกในการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น รวมไปถึงการส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูล สู่มือของเกษตรกรในชุมชนเพื่อแบ่งปัน และเพิ่มโอกาสการทำฟาร์มอัจฉริยะในไทยให้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับอนาคต ทางกสทกำลังมองหาวิธีการต่อยอดที่เหมาะสม โดยเฉพาะพัฒนาระบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องใช้คนดูแล แต่จะสามารถทำงานได้ทันทีเพียงระบุชนิดของพืชที่ปลูก โดยตัวระบบจะสามารถควบคุมและสั่งการในการดูแลอย่างเหมาะสมได้เองทันที