'ฟีโบ้' ส่งมอบ ‘ฟาโก้’ แก๊งหุ่นยนต์สู้โควิดสู่ รพ.จักรีนฤบดินทร์
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือ ฟีโบ้ (มจธ.) ผนึกภาคเอกชนเร่งพัฒนาระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา “FIBO AGAINST COVID: FACO” บนแพลตฟอร์มการควบคุมที่ง่ายต่อการใช้งานเพื่อแบ่งเบาภาระแพทย์
ฟีโบ้ต้องการสร้างระบบชุดหุ่นยนต์ฟาโก้ 3 ระบบ ซึ่งประกอบด้วยหุ่นยนต์ 4 ตัว โดยหุ่นยนต์ 1 ระบบสามารถให้บริการดูแลผู้ป่วยได้ถึง 100 เตียง งบประมาณในการพัฒนาต้นแบบรวมทั้งหมดกว่า 4 ล้านบาทต่อระบบ แต่เมื่อมีการนำไปผลิตเป็นจำนวนมาก คาดว่างบประมาณในการพัฒนาจะเหลือเพียง 2.5-3 ล้านบาท เพื่อแบ่งเบาภาระแพทย์รวมทั้งลดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อ โดยมีพื้นฐานจากต้นแบบงานวิจัยสู่การใช้งานจริง
เกราะเสริมความปลอดภัยให้แพทย์
รศ.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หัวหน้าโครงการฟาโก้ (FACO) เปิดเผยว่า ชุดระบบหุ่นยนต์ 1 ระบบ ประกอบด้วย หุ่นยนต์ 4 ตัว ได้แก่ 1.Caver-Cab2020a หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในของโรงพยาบาล รับน้ำหนักสูงสุด 150 กิโลกรัมหรือประมาณ 30 ถาดอาหารในคราวเดียว พร้อมด้วยฟังก์ชั่นในการฟอกอากาศให้บริสุทธ์และฆ่าเชื้อไวรัสตลอดการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator
2.SOFA หุ่นยนต์บริการติดตั้งจอแสดงผล โดยแพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อัตโนมัติ จากนั้นแพทย์สามารถเลือกข้อมูลผลการรักษา หรือ ผลการตรวจ โดยจะแสดงผลผ่านหน้าอกของหุ่นยนต์ ซึ่งผู้ป่วยสามารถดูได้ ทั้งนี้ มีการติดตั้งกล้องถ่ายความร้อน (Thermal Camera) เพื่อใช้วัดอุณหภูมิของผู้ป่วย พร้อมด้วยกล้องวีดิโอความละเอียดสูงที่สามารถขยายได้มากถึง 30 เท่าเพื่อให้แพทย์ตรวจอาการสภาพภายนอกของผู้ป่วย อาทิ ตา ลิ้น ได้จากระยะไกล และสนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยแบบวีดิโอคอล
ด้านหลังของหุ่นยนต์ยังมีถาดสำหรับส่งอาหาร ยา ให้กับผู้ป่วยได้อีกด้วย ส่วนข้อมูลการรักษาทั้งหมดจะถูกส่งเข้าระบบส่วนกลางให้แพทย์สามารถเรียกข้อมูลมาวิเคราะห์ได้อย่างทั่วถึง ส่วนตัวที่ 3 และ 4 จะเป็นหุ่นยนต์บริการส่งยาและอาหารเฉพาะจุด ทั้งนี้ หุ่นยนต์ทั้งหมดเชื่อมต่อผ่านระบบไวไฟหลักของโรงพยาบาลและต่อไปในอนาคตจะพัฒนานำเทคโนโลยี 5G 2600 MHz มาเสริมความสามารถให้กับหุ่นยนต์และข้อมูลส่งผ่านขึ้นคลาวด์ด้วย 5G 26-28 GHz
เม.ย.นี้ติดตั้งใน รพ.จักรีนฤบดินทร์
“ทางฟีโบ้ได้พัฒนาหุ่นยนต์มาโดยตลอด แต่เมื่อมีวิกฤติโควิด-19 เข้ามาทางทีมงานวิศวกรที่เชี่ยวชาญเรื่องหุ่นยนต์กว่า 10 คน จึงทุ่มเทให้กับโปรเจคนี้และเร่งมืออย่างเต็มกำลัง ภายใต้ระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ฟีโบ้พยายามที่จะวิจัยและพัฒนาชุดระบบหุ่นยนต์ ที่จะเข้ามาช่วยการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีแผนจะนำไปทดลองติดตั้งใช้ในโรงพยาบาลที่ถูกจัดตั้งเป็นศูนย์เฉพาะกิจในการรักษาพยาบาลโรคโควิด"
อีกทั้งระบบหุ่นยนต์ฟาโก้ ชุดแรกมีแผนนำไปใช้ในสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแห่งแรกเนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 2 รองจากสถาบันบำราศนราดูร เพื่อช่วยแพทย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะสามารถติดตั้งได้ในราวต้นเดือน เม.ย.2563
ขณะเดียวกันฟีโบ้ยังได้รับทุนสนับสนุนการสร้างระบบหุ่นยนต์ขึ้นมาอีก 2 ระบบ เพื่อบริจาคให้แก่โรงพยาบาลที่ต้องการภายในกลางเดือน เม.ย.นี้ จากที่ผ่านมามีโรงพยาบาลแจ้งความประสงค์หลายสิบแห่ง แต่จะมีการคัดเลือกเพียง 2 แห่งที่อยู่ในสถานการณ์เร่งด่วนเพื่อนำไปใช้ได้อย่างทันท่วงที
ดึง “ทารา” ผลิตพร้อมเสิร์ฟ
หลังจากนั้นฟีโบ้จะมอบแบบวิศวกรรมฟาโก้ (Engineering Drawings) ให้แก่ 20 บริษัทผู้ผลิตภายใต้สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) ซึ่งจัดตั้งภายใต้มติ ครม. 29 ส.ค.2560 มีสมาชิกกว่า 200 บริษัท เพื่อผลิตจำนวนที่มากขึ้นในราคาเท่าทุน ให้ทันต่อความต้องการของโรงพยาบาล โดยจะบูรณาการให้เป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน ซึ่งจะแบ่งการผลิตเป็นขั้นบันได คือ ระยะแรก 20 ชุดจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. ส่วนระยะสอง 40 ชุดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ค.2563 แต่ก็ขึ้นอยู่กับดีมานด์ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ การวิจัยพัฒนาในครั้งนี้ ฟีโบ้ได้ร่วมกับภาคเอกชน ประกอบด้วย บริษัท ฟอร์มส์ ซินทรอน (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้ทุนสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มทั้งในส่วนของงบประมาณและอุปกรณ์ รวม 3 ล้านบาท และยังได้ส่งทีมนักออกแบบเข้าร่วมในโครงการฟาโก้ด้วย เพื่อต่อยอดไปเป็นแพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ (Medical Service Platform) ที่ต่อไปจะมีการขึ้นคลาวน์ และจนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล
บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) สนับสนุนอุปกรณ์และทุน 1 ล้าน และบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้บริจาคอุปกรณ์สำหรับการประชุมทางไกลผ่านทางจอภาพ และกล้องความละเอียดสูง
รศ.ชิต กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ฟีโบ้ได้รับแจ้งจากสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ระบุว่า เนื่องจากมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่จำเป็นต้องอยู่ห้องแยก ซึ่งพบปัญหาการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรที่ให้การดูแล จึงขอให้ฟีโบ้เข้ามาดำเนินการติดตั้งระบบหุ่นยนต์เพื่อการสื่อสารและสนับสนุนการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เพื่อให้การสื่อสารและสนับสนุนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทางฟีโบ้จึงได้เร่งดำเนินการพัฒนาระบบชุดหุ่นยนต์ตามการร้องขอดังกล่าว เพื่อให้การรักษาของบุคลากรทางการแพทย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ