‘วงใน’ ชูเมนูเดลิเวอรี่ นำร้านอาหารฝ่าโควิด!

‘วงใน’ ชูเมนูเดลิเวอรี่ นำร้านอาหารฝ่าโควิด!

“วงใน” เปิดสมรภูมิสู้ศึกโควิด-19 เน้นความอยู่รอดของสมาชิกผู้ประกอบการร้านอาหาร จัดแคมเปญส่งเสริมยอดขายทั้งเปิดขายเวาเชอร์ล่วงหน้า 1 ปี ดึงเงินสดเข้าร้าน เพิ่มฟีเจอร์ลูกค้ารับอาหารจากร้านใกล้บ้านช่วยร้านลดค่าเดลิเวอรี่

“วงใน”เปิดสมรภูมิสู้ศึกโควิด-19 ในส่วนของบริษัทเองได้ปรับโยกกำลังคนส่วนงานอีเวนท์มาเสริมงานอาหารทั้งรีวิวและดีลออนไลน์ แนะธุรกิจขนาดเล็กปรับตัวสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ดึงบริการเดลิเวอรี่เพิ่มยอดขาย ระบุเลิกจ้างเป็นทางเลือกสุดท้าย

สตาร์ทอัพด้านรีวิวแนะนำร้านอาหารระดับแถวหน้า เปิดตัวให้บริการเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี มีผู้เข้าใช้งานเพิ่มขึ้นทุกปีรวมไปถึงผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ ที่เข้ามาแสดงความเป็นเจ้าของร้านในระบบ ซึ่งรวมมีฐานข้อมูลร้านอาหารมากกว่า 2 แสนร้านซึ่งมากที่สุดในไทย ร่วมเสวนาหัวข้อ “ธุรกิจขนาดเล็กจะรับมือเพื่อให้ผ่านวิกฤตการณ์ COVID-19 ครั้งนี้ไปได้อย่างไร” ผ่านช่องทางออนไลน์ในงาน Techsauce Virtual Conference 2020 

อัดโปรโมชั่นฝ่าวิกฤติ

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด ผู้นำตลาดแอพพลิเคชั่นค้นหาและรีวิวร้านอาหาร อันดับ 1 ของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “Wongnai” (วงใน) เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจอาหาร และผู้นำตลาดระบบรีวิวร้านอาหารในไทย ได้ลั่นกลองรบเพื่อช่วยเหลือร้านอาหารในเครือข่ายผ่านทางหลากหลายช่องทาง 

158591754927

อาทิเช่น ลูกค้าสามารถซื้อเวาเชอร์ล่วงหน้าซึ่งจะมีอายุการใช้งานนาน 1 ปี ส่งเสริมให้ร้านอาหารมีกระแสเงินสดหมุนเวียน อีกทั้งฟังก์ชั่นใหม่ที่กำลังพัฒนาคือ Pickup กดสั่งอาหารล่วงหน้าแล้วแวะไปรับอาหารหน้าร้านเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ร้านอาหารและแก้ไขปัญหาในเรื่องบริการเดลิเวอรี่ขาดแคลนอีกทางหนึ่ง

ส่วนเงื่อนไขในการจัดเก็บ Gross Profit (GP) หรือส่วนแบ่งจากยอดขายให้กับทางแอพฯ เดลิเวอรี่นั้น ทางวงในและพาร์ทเนอร์อย่างไลน์แมน ได้ทำเป็น 2 ทางเลือกคือ ลูกค้าที่สั่งอาหารเป็นผู้รับภาระค่าจัดส่งเองตามระยะทาง ถือเป็นการตัดภาระค่าใช้จ่ายของทางร้าน อีกโมเดลคือ การเก็บค่าคอมมิชชั่น เพื่อจ่ายค่าพนักงานส่งและค่าบริการต่างๆ

158591758283

นอกจากนี้จากเดิมที่รับออนบอร์ดร้านจะใช้เวลา 3-4 วัน เพื่อโปรโมทร้านอาหารในหลักร้อยต่อวัน แต่ปัจจุบันสามารถออนบอร์ดร้านได้ประมาณ 2,000 รายต่อวัน และใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น เพื่อให้เกิดการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายอย่างรวดเร็ว ทำให้ทางร้านมีรายได้เข้ามาเร็วขึ้น

ในส่วนของการบริหารจัดการบุคลากรของวงในที่มีกว่า 400 คน พบว่าแผนกที่ดูแลธุรกิจอีเวนท์ได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากกิจกรรมถูกเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด เช่นเดียวกับฝั่งธุรกิจมีเดียที่รายได้หายเกินกว่า 50% จึงแก้เกมโดยนำพนักงานกลุ่มที่ได้รับผล กระทบย้ายมาอยู่ฝั่งร้านอาหารเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดการรีสกิล-อัพสกิลเพื่ออัพเกรดความสามารถของทีมงาน ที่เป็นฟันเฟืองหลักของสมรภูมินี้

ฟู้ดเดลิเวอรี่คือทางรอด

ยอด กล่าวถึงสถานการณ์โดยรวมของธุรกิจร้านอาหารว่า ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของร้านอาหารเปิดใหม่ในไทยมากกว่า 97% โดยกรุงเทพฯ ครองแชมป์มากที่สุด ตามมาด้วย นนทบุรี สมุทรปราการ อีกทั้งร้านขนาดเล็กถึงกลางหรือระดับเอสเอ็มอี เป็นสัดส่วนที่เปิดใหม่มากที่สุด

แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารโดยรวมประมาณ 50% โดยเฉพาะร้านที่มีบริการนั่งรับประทาน ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริโภคเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น เดินทางออกนอกบ้านน้อยลง แต่หลังจากวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา จากการที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์โดยห้ามนั่งรับประทานในร้าน ส่งผลกระทบไปกว่า 80-90% จากการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ทัน และไม่มีบริการเดลิเวอรี่มารองรับ

158589965371

นอกจากนี้ ด้วยความที่ไม่ใช่ทุกร้านที่เหมาะสำหรับบริการเดลิเวอรี่ โดยเฉพาะร้านอาหารรูปแบบบุฟเฟต์ที่มีราคาต่อหัวในการนั่งรับประทานในร้านมากกว่าเดลิเวอรี่ถึง 2 เท่า ที่รายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับธุรกิจสปาที่ต้องปิดทำการก็ได้รับผลกระทบถึง 100% แต่ในสภาวการณ์ตอนนี้ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์คงหนีไม่พ้นธุรกิจเดลิเวอรี่ กระทั่งมีการกล่าวกันว่า “เดลิเวอรี่ไม่ใช่ทางเลือกแต่คือทางรอด”

แนะลดเงินเดือนแทนเลิกจ้าง

“ด้วยธุรกิจของวงในเป็นเหมือน B2B และ B2C ที่เชื่อมต่อกับร้านอาหารและผู้บริโภค วิธีการปรับตัวจึงต้องให้ความสำคัญกับความคิดของผู้คนเป็นพิเศษ ค่านิยมหลักของวงในคือ “ออกศึก” ฉะนั้น จะต้องระดมพลให้เร็ว ทำอะไรให้เด็ดขาด ทุกคนจึงต้องช่วยกันเพื่อลดต้นทุนให้ได้ พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการโดยตั้งศูนย์บัญชาการที่ทุกทีมต้องรายงานสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ” ยอด กล่าว

หากสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ คาดว่าบริการเดลิเวอรี่และสั่งกลับบ้านจะมีสัดส่วนมากขึ้น จากเดิมที่เติบโต 5% เป็น 20-30% ฉะนั้น ทุกร้านควรมีเมนูที่เหมาะกับเดลิเวอรี่เพื่อที่จะช่วยส่งเสริมในเรื่องยอดขายตรงจุดนี้ อีกทั้งการบริหารต้นทุนสำหรับร้านที่เปิดไม่ได้ก็ต้องรักษาพนักงานไว้ ด้วยการลดเงินเดือนบางส่วน ส่วนร้านที่ยังคงเปิดให้บริการได้นั้นก็จะต้องมีการจัดการเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

158591769563