อว.หนุนผลิตชุดตรวจโควิด-19 ครบ 1 แสนชุด เม.ย.นี้
“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ผนึก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสยามไบโอไซเอนซ์ ส่งมอบชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 มาตรฐานองค์การอนามัยโลก 20,000 ชุดแรกแก่รัฐบาล นำไปแจกใช้ฟรี รพ.ทั่วประเทศและห้องปฎิบัติการที่มีเครื่องตรวจกว่า 100 แห่ง ลุยผลิตครบ 1 แสนชุด เม.ย.นี้
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 เม.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้แทนบริษัทสนามไบโอไซเอนซ์ เดินทางมามอบชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีRT-PCR ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก จำนวน 20,000 ชุดให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
จากนั้น ดร.สุวิทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า อว. โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ วิจัยและพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก สำหรับการหาเชื้อไวรัสนี้ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน เพราะเป็นการยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสจริง โดยมีเป้าหมายจะผลิตให้ครบ 1 ล้านชุด ภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้รัฐบาลนำไปแจกจ่ายให้ใช้ฟรีตามโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องตรวจทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง ล่าสุด สามารถผลิตและส่งมอบชุดตรวจฯ 20,000 ชุดแรกให้แก่รัฐบาล และจะทยอยส่งมอบทุกๆ สัปดาห์จนครบ 100,000 ชุดภายในเดือน เม.ย.นี้ พร้อมยังคงเดินหน้าผลิตอย่างต่อเนื่องจนครบตามเป้าหมายภายใน 6 เดือน
ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังสามารถตรวจผู้เข้าข่ายว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงได้น้อย ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ชุดตรวจและน้ำยาจากต่างประเทศมีภาวะขาดแคลน การ พัฒนาชุดตรวจนี้ขึ้นมาก็เพื่อลดปัญหาการขาดแคลน เป็นการสร้างความมั่นคงด้านชุดตรวจของประเทศ นอกจากนี้ ชุดตรวจนี้ยังมีราคาถูกกว่าชุดตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างมาก ทั้งนี้ชุดตรวจนี้ได้ผ่านการสอบเทียบกับตัวอย่างไวรัสมาตรฐาน และผลิตในสถานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐาน อย. และมาตรฐานสากล
โครงการวิจัยพัฒนาและผลิตชุดตรวจนี้ได้รับงบประมาณจากหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้โครงการ BCG-Health ของ อว. เป็นจำนวนเงิน 65 ล้านบาท ร่วมกับเงินลงทุนจากบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ 65 ล้านบาท และในอนาคตยังสามารถขยายการผลิตได้มากขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของการตรวจ RT-PCR ตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์คาดว่าจะมีมากถึง 1 ล้านตัวอย่างต่อปี และจะขยายความร่วมมือกับเครือข่ายวิจัยทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อพัฒนาให้การตรวจ RT-PCR สะดวกมากขึ้น