เปิดใจ 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' 11 ปีกับภารกิจพลิกโฉมโทรคมไทย 

เปิดใจ 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' 11 ปีกับภารกิจพลิกโฉมโทรคมไทย 

ทุกคนก็รู้ว่า อยู่ที่ทำงานผมเครียดมาก แต่ผมจะไม่เอาเรื่องงาน กลับมาบ้าน

เฟ้นหารอง-ผู้ช่วยใหม่

"ผมจะจัดประชุมนัดพิเศษ เพื่อเลือกรองเลขาธิการกสทช. และผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. การสรรหารองเลขาธิการ กสทช. เนื่องจากรองเลขาธิการ 3 คน ประกอบด้วย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร, พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม ครบวาระการทำงาน 5 ปี จึงต้องสรรหารองเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ทดแทน ขณะที่ นายภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จะครบวาระวันที่ 7 เม.ย. 2564" ฐากร อธิบาย 

ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. เป็นตำแหน่งใหม่ที่เพิ่มเติม ตามการปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อให้การทำงานคล่องตัว ประกอบด้วย 5 ตำแหน่ง ดูแล 5 สายงาน ได้แก่ สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์, ยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร, บริหารองค์กร, กิจการภูมิภาค และกิจการโทรคมนาคม โดยคณะกรรมการสรรหา จะเสนอชื่อเข้าที่ประชุม กสทช. สายงานละ 2 คน รวม 10 คน เพื่อให้ที่ประชุมคัดเลือกเหลือ 5 คนตามสายงานดังกล่าว

สำหรับตำแหน่งเลขาธิการคนใหม่ที่มาแทน “ฐากร” บอร์ดกสทช.จะเป็นผู้แต่งตั้ง ส่วนคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ. กสทช. หากกระบวนการล่าช้ากว่าหนังสือลาออกของ ฐากร มีผล คณะกรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบันจะต้องแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. เพื่อปฏิบัติหน้าที่ขัดตาทัพไปก่อน จนกว่าจะมีคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ และแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. โดยมีวาระการทำงาน 5 ปี

สานงานท่อร้อยสาย

ฐากร เล่าต่อถึงภารกิจที่ยังต้องสานต่อ คือ เรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. กสทช. ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ว่า การแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. นี้มีประเด็นเกี่ยวกับคณะกรรมการสรรหาและคุณสมบัติของผู้จะเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. โดยหลังจากพิจารณาขั้นรับหลักการแล้วมีการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาโดยจะใช้เวลา 30 วัน

ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 โดยเพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการ กสทช. เพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามกรรมการ กสทช. กรณีเคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด รวมทั้งปรับปรุงอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ลักษณะผู้มีสิทธิเข้ารับการสรรหา กระบวนการสรรหา คัดเลือก และแต่งตั้งกรรมการ กสทช.

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กฎหมายดังกล่าวปรับปรุงแก้ไขเป็นฉบับที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2560 แต่พบว่าเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ทำให้การสรรหาและคัดเลือกบุคคลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกทั้งมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ได้รับการคัดเลือก จึงต้องมีการแก้ไขข้อขัดข้องในการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ฐากร ยังฝากถึงกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ ให้เร่งดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสาร และนำสายสื่อสารลงดินทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งก่อให้เกิดทัศนียภาพอันสวยงาม โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ส่วนตัวประเมินว่า ใช้เวลา 2 ปีน่าจะแล้วเสร็จ

เส้นทางดันประเทศสู่ 5จี 

การเข้ามาทำงานบอร์ด กสทช. และสำนักงาน กสทช. ที่มี 'ฐากร' เป็นหัวเรือใหญ่ เริ่มเมื่อปี 2554 ต่อมา ในปี 2555 กสทช.จัดประมูลครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นการประมูล 3จี คลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่ง 3 ค่ายใหญ่คว้าคลื่นไปคนละใบอนุญาต ทำเงินรวมเข้ารัฐ 41,625 ล้านบาท ต่อมาปี 2558 ประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ทำเงินเข้ารัฐอีก 80,778 ล้านบาท

และในปีเดียวกัน มีการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ได้เงินรวมเข้ารัฐมากเป็นประวัติการณ์คือ 151,952 ล้านบาท ผู้ชนะคือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ราคา 75,654 ล้านบาท และ ทียูซี ราคา 76,298 ล้านบาท แต่ก็เกิดข่าวใหญ่หลังวันนั้นคือ “แจส ทิ้งใบอนุญาต” และเอไอเอสก็เข้ามารับคลื่นและราคาสุดท้ายที่แจสทิ้งไป

ต่อมาปี 2561 จัดประมูล คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ทำเงินประมูลเข้ารัฐ 25,022 ล้านบาท และปี 2562 ที่ผ่านมา คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ได้จัดประมูลล่วงหน้า ได้เงินกว่า 56,544 ล้านบาท และล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ประมูล 5จีใน 3 ย่านความถี่ดังกล่าวทำรายได้ถึง 100,521 ล้านบาท

ดังนั้น หากรวมการจัดประมูล 5 ครั้งช่วงเวลา 9 ปี ทำเงินเข้ารัฐได้เกิน 490,714 ล้านบาท กสทช. ประเมินว่า เมื่อมี 5จี เกิดขึ้นจะทำให้จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ราว 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02 % ของจีดีพีและตั้งแต่ปี 2563-2565 5จี จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 985,720 ล้านบาท