กสทฯ เร่งสรุปแผน 'ยิงดาวเทียมใหม่' - 'ไทยคม' พร้อมเป็นพาร์ทเนอร์
กสทฯ ยืดอกเป็นเจ้าภาพรับโอนดาวเทียม หลังไทยคม หมดสัมปทาน ชี้ขณะนี้ส่งแผนจัดการทรัพย์สินเสร็จแล้ว คาดใช้งบปีละ 200 ล้านบาท เล็งเข้าครม.กลางเดือนหน้า พร้อมรอนโยบายชัดเจน ด้าน 'ไทยคม' เอ่ย พร้อมเป็นพาร์ทเนอร์ทันที
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ได้เห็นชอบให้บริษัทเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รับโอนหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้บริการดาวเทียม กับบมจ.ไทยคมในเดือน ก.ย.2564 คาดว่ากระทรวงดิจิทัลฯ จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์นี้
โดยขณะนี้ กสทฯได้ส่งแผนในการบริหารจัดการดาวเทียมให้กับดีอีเอสเรียบร้อยแล้ว ทั้งดาวเทียมดวงที่ 4 จะที่เหลือพลังงานเชื้อเพลิงใช้ได้อีก 2 ปี หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2564 ซึ่งต้องใช้งบประมาณปีละ 200 ล้านบาท จึงต้องประเมินระยะเวลาในการบริหารจัดการด้วยว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือดูแลในระยะยาวหรือไม่ ประกอบกับดาวเทียมไทยคม 4 ลูกค้าได้ย้ายออก เพราะไม่มีความชัดเจนในการสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทน
ซึ่งตามที่ไทยคมพยายามจะสร้างดาวเทียมดวงที่ 9 ทดแทน แต่ติดปัญหาการจองช่องสัญญาณดาวเทียม ทำให้ต้องยุติแผนการสร้าง ส่วนดาวเทียมไทยคม 5 ปลดระวางไปแล้ว เหลือเพียงดาวเทียมไทยคม 6 ที่เพิ่งยิงขึ้นสู่วงโคจรในปี 2557 สามารถใช้งานได้ 15 ปี ไปจนถึงปี 2572 ที่ยังคงมีลูกค้าเช่าใช้เต็มประสิทธิภาพ
“ตอนนี้เรื่องดังกล่าวผ่าน 2 บอร์ดแล้ว คือ คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และบอร์ดดีอี ต้องรอมติ ครม.ก่อน ซึ่งคาดว่าดีอีเอสจะนำเข้า ครม.ภายใน 2 สัปดาห์นี้ โดยการบริหารจัดการดาวเทียม กสทฯจะเข้ามาดูสินทรัพย์ที่หมดอายุดการใช้งานวิศวกรรม จะมีบางส่วนที่กสทฯดำเนินการเอง และบางส่วนหาพันธมิตรเข้ามาร่วมด้วยอยู่ระหว่างคุยๆ กันอยู่” พ.อ.สรรพชัย กล่าว
ด้านนายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยคม กล่าวว่า บริษัทมีการเจรจากับกสทฯเพื่อทำงานร่วมกัน หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย.2564 อย่างไรก็ตาม ต้องรอทุกอย่างมีความชัดเจนก่อน ซึ่งเจตนารมณ์คือ หาทางออกร่วมกัน เพื่อให้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ดำเนินการได้
“การเจรจาจะได้ข้อสรุปเมื่อใด อยู่ที่กสทฯและรอความชัดเจนจากภาครัฐ ซึ่งเรายินดีทำงานร่วมกับกสทฯแต่ต้องรอทุกอย่างชัดเจน ทั้งมติ ครม. รอเงื่อนไขของกระทรวงและกสทฯ ในการหาผู้ร่วมดำเนินการ” นายอนันต์ กล่าว