มข.ทดสอบยูวี-โอโซนฆ่าเชื้อบนหน้ากาก 'เอ็น95' รุกนำกลับมาใช้ซ้ำ!
ม.ขอนแก่น ทดสอบโครงสร้างจุลภาคและการกันน้ำของหน้ากากเอ็น 95 หลังการฆ่าเชื้อด้วยยูวีและโอโซน ระบุใช้ซ้ำได้ถึง 5 ครั้ง บรรเทาปัญหาสินค้าขาดแคลน เร่งผลิตตู้ยูวีฆ่าเชื้อมอบหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่อไป
มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมนาโนเพื่อพลังงาน ร่วมกับคณะเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์และทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ได้ทำการศึกษาสมบัติทางกายภาพของหน้ากากเอ็น 95 ทั้งหมด 11 ชนิด ที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีอุณหภูมิบนพื้นผิวไม่เกิน 75 องศาเซลเซียสต่อรอบ และผ่านการอบโอโซนความเข้มสูงประมาณ 10 พีพีเอ็ม พบว่า เส้นใยของแผ่นกรองไม่ได้รับความเสียหายหลังผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีเป็นจำนวน 5 รอบ และการใช้โอโซนความเข้มข้นสูงนาน 30 นาที
สอดคล้องกับที่นักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ และภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ ได้ศึกษาความสามารถในการกำจัดเชื้อจุลชีพทั้งไวรัสและแบคทีเรียโดยพบว่า รังสียูวีปริมาณมากกว่า 30 mJ ต่อตารางเซนติเมตร สามารถกำจัดเชื้อไวรัสทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์เพาะเลี้ยงและกำจัดอาร์เอ็นเอของเชื้อได้ และ รังสียูวีปริมาณมากกว่า 60 mJ ต่อตารางเซนติเมตร
สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและแกรมลบด้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลของการใช้โอโซนความเข้มข้นสูงในการกำจัดเชื้อพบว่า สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้เมื่อใช้ ozone ความเข้มข้น เป็นเวลา 15-30 นาที และทำลายเชื้อแกรมบวกได้ภายใน 15 นาที ขณะที่เชื้อแกรมลบถูกทำให้ลดจำนวนลงในเวลา 30 นาที และกำจัดหมดที่เวลา 60 นาที
นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ศึกษาความสามารถในการกันน้ำ หรือความไม่ชอบน้ำของแผ่นเส้นใยชั้นนอก วัดด้วยเครื่องวัดมุมสัมผัสของหยดน้ำ (contact angle) พบว่า ความสามารถในการกันน้ำของหน้ากากทุกแบรนด์มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ยังสามารถกันน้ำได้ หลังจากผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีเป็นจำนวน 5 รอบ และการใช้โอโซนความเข้มข้นสูงนาน 30 นาที เช่นกัน
ศ.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ กล่าวว่า การทดสอบในครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันคุณภาพของเส้นใย การกันน้ำ ของหน้ากากเอ็น 95 และประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อของตู้ยูวี ซึ่ง เป็นเครื่องมือที่มีขายในท้องตลาดเพื่อมาประยุกต์ใช้ในการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งจากผลการทดสอบนั้นทำให้ทราบว่า หน้ากากเอ็น95 ที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้นั้นสามารถนำมาฆ่าเชื้อด้วยยูวีและโอโซน ทั้งนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 5 รอบโดยที่คุณภาพมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนาคตของบุคลากรทางการแพทย์ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ควรคำนึงถึงความเข้มของแสงยูวีและปริมาณโอโซน รวมทั้งระยะเวลาที่ใช้งาน ส่งผลในการฆ่าเชื้อที่แตกต่างกัน
“ในการทดสอบครั้งนี้ต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ที่ให้การสนับสนุนหน้ากาก N95 จำนวน 11 ชนิด และ นายเฉลิมชัย วงษ์นาคเพ็ชร์ กรรมการสภา มข. ที่ให้การสนับสนุนเครื่องผลิตโฮโซนเพื่อใช้ในการทดสอบ ส่วนต้นแบบของตู้ยูวีฆ่าเชื้อนั้น ทางนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเครือข่าย อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำตู้ดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่อไป"