“วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้คือสนามดิสรัปชั่นลูกใหม่ซึ่งผลักดันให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยี”
นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทซีดีจีผู้ให้บริการด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร กล่าว พร้อมกับแสดงทัศนะว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและต่างประเทศ ส่งผลกระทบขยายวงกว้างไม่เว้นทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน
โดยข้อมูลของสหประชาชาติคาดว่า ผลพวงจากวิกฤติที่เกิดขึ้นส่งผลให้จีดีพีโลกหดตัว 0.9% แทนที่จะเติบโตมากถึง 2.5% ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่ประเทศไทยคณะกรรมการนโยบายการเงินคาดว่าปีนี้จีดีพีของไทยจะติดลบ 5.3%
“เป็นสนามดิสรัปชั่นลูกใหม่ที่เกิดขึ้นมาแบบไม่ทันตั้งตัว และเป็นตัวผลักดันหน่วยงานทุกภาคส่วนให้เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤติที่ไม่สามารถคาดเดาได้ในอนาคต”
ตั้งรับ ‘วิถีใหม่’ หลังโควิด
เขากล่าวว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นแม้จะเป็นคำคุ้นหู แต่กลับพบว่ามีองค์กรเพียง 21% ที่พร้อมรับมือโดยสมบูรณ์ โควิด-19 ที่แพร่ระบาดครั้งนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายการบริหารจัดการขององค์กร และทำให้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่ลำบากซึ่งส่งผลต่อการทำงานของหน่วยงานทุกระดับ
อย่างไรก็ดี หากลองมองในมุมต่าง จะเห็นส่วนที่เป็นโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างองค์กรและธุรกิจที่ต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และเป็นตัวแปรสำคัญที่กระตุ้นให้การเกิดการทรานส์ฟอร์มองค์กร เพื่อการบริหารจัดการงานภายในและภายนอกได้อย่างรวดเร็ว เสริมความแข็งแกร่ง และเป็นทางรอดในวิกฤติต่างๆ ที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้
ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกระตุ้นให้หน่วยงานทั้งขนาดเล็กและใหญ่เห็นประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยี ซีดีจีคาดว่าวิกฤติครั้งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้องค์กรอีก 79% ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้มากขึ้น
นอกจากนี้ เชื่อมั่นว่าศักยภาพคนศตวรรษที่ 20 จะช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ นำเสนอต่อสังคม หากทุกภาคส่วนมีความตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมทั้งความรู้ความสามารถบุคลากร ศักยภาพของเทคโนโลยี และการประเมินสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือ disruptive waves ให้ถี่ถ้วนมากเพียงพอ
ที่ขาดไม่ได้ ต้องทบทวนแผนการทำงานเชิงรุก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ปรากฏการณ์ “New Normal” หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤติผ่านพ้นไป คือการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในทุกภาคส่วน เพราะพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของประชาชนต้องปรับเปลี่ยน การบริการของหน่วยงานภาครัฐต้องสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นด้วยช่องทางออนไลน์ ภาคธุรกิจต้องปรับตัวรับมือกับผู้บริโภคที่ไม่ใช่แค่เด็กรุ่นใหม่ แต่รวมถึงทุกช่วงอายุจะสามารถเข้าถึงการใช้งานดิจิทัลได้อย่างคุ้นเคย