‘ไอเน็ต-ไอบีเอ็ม’ ดึง 'เอไอ' วินิจฉัยวัณโรค

‘ไอเน็ต-ไอบีเอ็ม’ ดึง 'เอไอ' วินิจฉัยวัณโรค

“ไอเน็ต” ดึงเทคโนโลยีเอไอพร้อมคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงจาก ”ไอบีเอ็ม” ช่วยตรวจหาวินิจฉัยและรักษาวัณโรคในไทย ประเดิมโรงพยาบาล 75 แห่งทั่วประเทศ หนุนทีมแพทย์ตรวจพบโรคได้แบบเรียลไทม์ ถูกต้อง แม่นยำ

องค์การอนามัยโลกระบุว่า วัณโรคติดอันดับ 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิต แต่ละปีมีผู้ป่วยถึงประมาณ 10 ล้านคน และคาดว่ามีประชากรทั่วโลกถึง 1 ใน 4 ที่ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง ไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวัณโรคมากที่สุด โดยมีจำนวนผู้ป่วยใหม่และผู้ที่กลับมาเป็นซ้ำถึง 108,000 รายต่อปี

ที่ผ่านมา หนึ่งในปัญหาท้าทายในการติดตามการติดเชื้อในไทยคือระบบรายงาน แม้ว่าการเอ็กซเรย์ทรวงอกจะเป็นหนึ่งในวิธีการตรวจที่มีการใช้มากที่สุดทั่วโลก แต่ปัจจุบันยังคงประสบปัญหาขาดแคลนรังสีแพทย์ ทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กหลายแห่งต้องส่งภาพเอ็กซเรย์ไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่าเพื่อแปลผลภาพเอ็กซเรย์ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยในชนบทและพื้นที่ห่างไกลต้องรอผลการวินิจฉัยนานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนกว่าจะได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งการขาดแคลนรังสีแพทย์ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ยังส่งผลต่อความแม่นยำและความละเอียดในการตรวจหาอาการที่เกี่ยวข้องและการวินิจฉัยผู้ป่วย

158912213619

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีนและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า วงการเฮลธ์แคร์ไทยกำลังเดินหน้าและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและระดับสากล วันนี้รังสีแพทย์สามารถอัพโหลดภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกเข้ามาที่แอพพลิเคชั่นซีเอ็กซ์อาร์สกรีนนิงซึ่งจะแปลเป็นผลลัพธ์ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที พร้อมด้วยเปอร์เซ็นต์แสดงระดับความมั่นใจ

โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยให้แพทย์สามารถโฟกัสไปที่กลุ่มผู้มีโอกาสเป็นวัณโรคมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาด้วยแนวทางที่มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที

ปัจจุบัน มีการขยายการใช้แอพดังกล่าวซึ่งผสานเอไอนี้ในการตรวจหาอาการอื่นๆ จากภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกอีก 14 อาการ เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และภาวะปอดรั่ว โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยหลายพันคนในโรงพยาบาล 300 แห่งทั่วประเทศที่ได้รับประโยชน์ ขณะเดียวกันยังมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์เกี่ยวกับการวินิจฉัยและรักษาโรคทรวงอกอีกด้วย