'ใบยาฯ' อิงโปรตีนพืช สร้าง 'ชุดคัดกรองโควิด'

'ใบยาฯ' อิงโปรตีนพืช สร้าง 'ชุดคัดกรองโควิด'

สตาร์ทอัพสายไบโอจับมือเภสัชฯ จุฬาฯ ต่อยอดโนว์ฮาวการสังเคราะห์โปรตีนจากพืชป้อนอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สู่การผลิตโปรตีนไวรัสโคโรนาสำหรับทำชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบรู้ผลเร็ว 15 นาที สนับสนุนแพทย์ใช้คัดกรองก่อนทำหัตถการ เดินหน้าพัฒนาวัคซีนโควิด เพิ่มเติม

"ใบยา ไฟโตฟาร์ม" (Baiya Phytopharm) สตาร์ทอัพสายไบโอเทคโนโลยีสัญชาติไทยได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมในศาสตร์ต่างๆ ทั้งทางการแพทย์ รวมถึงวิศวกรรม เทคโนโลยีและข้อมูลในการจัดการระบบจนถึงการนำไปใช้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ

ดึงโปรตีนพืชสู่คัดกรองโควิด

ผศ.ภญ.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เปิดเผยว่า ชุดตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากหยดเลือด ซีรัมหรือพลาสมา ใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีรู้ผล เป็นผลงานการวิจัยร่วมกับ รศ.วรัญญู พูลเจริญ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนให้เปล่าผ่านกลไกหลักของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ กว่า 4 ล้านบาท ขณะนี้ได้นำร่องสู่การใช้งานในพื้นที่จริงเพื่อการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วย

158920353598

“บริษัทเปิดตัวเมื่อปี 2561 ทำการผลิตโปรตีนจากพืชเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น จึงมีการวิจัยพัฒนาต้นแบบยา วัคซีนและสารเคมีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ เช่น สารช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์เก่า ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และการผลิตโปรตีนต้นแบบที่ใช้เป็นยารักษามะเร็ง โดยมีบิซิเนสโมเดลในรูปแบบ B2B”

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็คิดกันว่าจะทำอะไรได้บ้าง กระทั่งพบว่าตัวไวรัสก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีตัวหนามกลมๆ ของโปรตีน ทำหน้าที่จับเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย จึงนำมาต่อยอดสู่การสังเคราะห์โปรตีนหรือแอนติเจนตัวหนามของไวรัส ที่หน้าตาเหมือนหนามของไวรัสแต่ไม่ใช่ไวรัส โดยใช้พืชเป็นตัวผลิต หากสามารถทำการผลิตตัวหนามนี้ได้สำเร็จ ก็จะเคลือบลงไปบนแผ่นชุดตรวจคล้ายหลักการของชุดตรวจตั้งครรภ์

158920361587

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันออกมาคือ แอนติบอดี (Immunoglobulin G : IgG) และ (Immunoglobulin M :IgM) เมื่อเจาะเลือดออกมาก็สามารถบอกได้ว่า ผู้ป่วยรายนี้เคยติดเชื้อหรือขณะนี้มีการติดเชื้ออยู่หรือไม่ โดยตัวภูมิคุ้มกันจะเริ่มสร้างขึ้นประมาณ 3-5 วันหลังจากที่ได้รับเชื้อ เพราะฉะนั้น หลังจาก 3-5 วันจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะได้รับการตรวจ

ทั้งนี้ นวัตกรรมระดับประเทศด้านกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ชุดตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคโควิด-19 แบบรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนในพืชของใบยาโดยเฉพาะ (Baiyapharming technology) สามารถตรวจจับแอนติบอดี (antibody) ที่จำเพาะต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อโรคโควิด-19 ในเลือดเพียงเล็กน้อยของผู้ป่วยได้แม่นยำและรวดเร็ว โดยทราบผลภายใน 15 นาที ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญหรืออุปกรณ์พิเศษในห้องปฏิบัติการ ความไวของชุดตรวจอยู่ที่ 94% ความจำเพาะประมาณ 98% ทั้งยังมีราคาถูก และสามารถขยายกำลังการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้อีกด้วย โดยบริษัททำ bacterial infiltration และ protein purification เองทั้งหมด เนื่องจากเป็นความลับของบริษัท

ช่วยแพทย์ลดเสี่ยงติดเชื้อ 

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตชุดตรวจหาเชื้อโควิดประมาณ 1 แสนชิ้นต่อเดือน หากบุคคลใดที่มีอาการ มีความเสี่ยงหรือมีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อก็สามารถขอรับบริการได้ ขณะนี้นำร่องการใช้ที่ศูนย์บริการสุขภาพจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้กระจายสู่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง เป็นจำนวนกว่า 2 หมื่นชุด เพื่อใช้ในงานวิจัยการตรวจภูมิคุ้มกันภายในชุมชน หมู่บ้าน และกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ อีกทั้งเพื่อใช้ในการคัดกรองบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยก่อนทำหัตถการ

158920363017

“บุคคลใดสนใจหรือคิดว่ามีความเสี่ยงก็สามารถเข้าไปที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก “เป็ดไทยสู้ภัย” แล้วกรอกข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับความเสี่ยง ระบบจะคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงเพื่อจะนำมาปรึกษากับแพทย์ผ่านระบบเทเลเมดิซีน ก่อนจะทำการนัดคิวให้เข้ามารับการตรวจคัดกรองต่อไป สาเหตุที่เราต้องทำแบบนี้เนื่องจากจำนวนการผลิตยังมีไม่มาก จึงต้องใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุดก่อน เพื่อที่จะลดการระบาดของโรคให้ได้มากที่สุด” ผศ.ภญ.สุธีรา กล่าว

หากมีเกณฑ์ตามเงื่อนไขการตรวจของโครงการวิจัยไม่ต้องเสียค่าบริการ หากผลตรวจเป็นบวกก็จะส่งต่อเพื่อทำการตรวจยืนยันด้วยวิธีการมาตรฐานพีซีอาร์ต่อไป แต่หากมีผลเป็นลบก็อาจจะเป็นเพราะร่างกายเพิ่งได้รับเชื้อไวรัส ทำให้ภูมิคุ้มกันจึงยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีระบบการติดตามโดยจิตอาสาที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ว่า มีความเสี่ยงหรือมีอาการหรือไม่ โดยจะทำการเรียกกลับมาตรวจคัดกรองอีกครั้ง

ขยายผลพัฒนาวัคซีน

ส่วนการขยายผล ผศ.ภญ.สุธีรา กล่าวว่า อยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จากนั้นจะดำเนินการจำหน่ายชุดตรวจให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศสำหรับใช้คัดกรองผู้ป่วยได้เอง และมีแผนจะขยายกำลังการผลิตเป็น 1 ล้านชิ้นต่อเดือน พร้อมกับพัฒนาวัคซีนเกี่ยวกับโควิด-19 ควบคู่ไปด้วย โดยนำโปรตีนที่ใช้ในการผลิตชุดตรวจบางส่วนมาพัฒนาเป็นวัคซีน

158920364950

ในอนาคตเตรียมพัฒนาชุดตรวจสำหรับโรคอื่นๆ ที่อาจจะเป็นปัญหาสำหรับประเทศ อาทิ ชุดตรวจสำหรับโรคมือเท้าปากในเด็ก โดยยังคงดำเนินการวิจัยพัฒนาร่วมกับจุฬาฯ เพื่อให้การนำนวัตกรรมของประเทศไปใช้ได้ประโยชน์สูงสุด

“แม้ว่าเราจะมีชุดตรวจแล้ว สังคมยังคงอยู่ในระยะที่มีการแพร่ระบาดของโรค เพราะฉะนั้น การเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Social Distancing) ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อเป็นการป้องกันต่อตนเองและผู้อื่น และต้องตระหนักเสมอว่า เรามองไม่เห็นเชื้อโรคที่แพร่กระจายในอากาศและเกาะตามพื้นผิวสัมผัส ฉะนั้น การป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าการแก้ภายหลังอย่างแน่นอน” ผศ.ภญ.สุธีรา กล่าว